ผู้เข้าชม
0
10 กรกฎาคม 2567

 

จารึกโรงนางสีดา พบในตำบลหนองเวียน นครจำปาศักดิ์

ซึ่งทางคณะอ่านจารึกไทยไปทำสำเนาจากจำปาศักดิ์


เนื้อความเริ่มต้นด้วยการอ้อนวอนเทพเจ้าทั้ง ๓ พรรณนาถึงราชวงศ์ของพระเจ้ายโศวรมัน สรรเสริญพระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้า      ยโศวรมันที่ประดิษฐานเทวรูปทั้ง ๔ ของพระศิวะและเทพีทุรคาไว้ในเกาะบ่อน้ำที่พระบิดาของพระองค์ (พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ ทรงให้ขุดไว้ และตัวพระองค์เองก็ขุดบ่อน้ำ (บารายตะวันออก) ระบุช่วงเวลาในปีมหาศักราชที่ ๘๑๑ ทรงประดิษฐานอารามแห่งหนึ่งชื่อว่า ยโศธาราม เพื่อเคารพพระคเณศ บนภูเขาจันทนะ และวางกฎเกณฑ์เพื่อบริหารกิจการสำนักนี้ จารึกที่เหลือคือกล่าวถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ

โดยการศึกษาของมาร์ชุมดา๑๑ เมื่อเปรียบเทียบจารึกที่มีข้อความเกือบเหมือนกันทุกประการกับจารึกอีก ๑๑ หลัก พบที่พระตะบอง เสียมเรียบ จำปาศักดิ์ กำปงจาม บาพนม บันทายมาศ และบาสัก แตกต่างเพียงคาถาที่ ๓๖ ซึ่งใช้ชื่อเทพและเทพี ๙ แห่งที่แตกต่างกันตามท้องถิ่น ดังนี้ ปราสาทตาเสียว พระตะบอง เทพสตรีชื่อ ‘นิทรา’, ปราสาทพะโค เสียบเรียบ เทพเจ้าชื่อ ปรเมศ, ปราสาทพระนาคโพ มูลไพร หรือมโนไพร อยู่ในเขตเขมรใกล้จำปาศักดิ์ เทพเจ้าชื่อ คเณศ, พระธาตุพระศรี ตโบงฆมุม (ตโบงฆมุม แปลว่าอำพันเป็นจังหวัดอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยมีกำปงจามอยู่ทางฝั่งซ้ายในประเทศกัมพูชา) เทพเจ้าชื่อ ปัญจลิงเคศวร, พระธาตุขะท่อม ตะโบงฆมุม เทพเจ้าชื่อ เทพเจ้าแห่งเราทร-ปรฺวตะ, วัดหา บาพนม เทพเจ้าชื่อ การ์ติเกยะ, วัดกันดาล บาพนม เทพเจ้าชื่อ นารายณะ, พระโองการ บันทายมาศ เทพเจ้าชื่อพราหมรักษาษะ, คูหาพระ บันทายมาศ โศลกที่ ๓๖ ชำรุดไม่ปรากฏ, โหทะมะ บาสัค เทพเจ้าชื่อรุทธรา-ณี, พะเนียด จันทบุรี โศลกที่ ๓๖ ชำรุดไม่ปรากฏ

จารึกเพนียด สภาพชำรุดมาก แต่พบว่าจารึกด้านที่ ๑ มี ๘ บรรทัด ส่วนจารึกด้านที่ ๒ มี ๕ บรรทัด ซึ่งเป็นชิ้นส่วนจารึกที่มีรูปแบบและข้อความตอนท้ายเหมือนกัน แต่บทความของเอมอนิเยร์สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ ที่ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๑๐-๑๕๕๐ โดยเขาระบุว่า ‘จำ’ ข้อความบางส่วนที่พบเพียง ๘ บรรทัดนั้นได้จากการสำรวจจารึกต่างๆ ทั่วกัมพูชา

แต่จารึกกลุ่มนี้หลักหนึ่งถูกเรียบเรียงข้อมูลใหม่ในชื่อ ‘จารึกพระบาท’ ซึ่งภายหลังทั้ง ‘เดอลาชงกิแยร์’ และ ‘ยอร์จ เซเดส์’ เห็นว่าเป็นจารึกในรัชกาลของพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ พ.ศ. ๑๔๓๒ ซึ่งเซเดส์ค้นคว้าและเขียนรายงานว่ามีข้อความเหมือนกันทั้ง ๑๑ แห่ง ซึ่งต่างเฉพาะโศลกที่ ๓๖ และโดยเปรียบเทียบกับจารึกอีกหลายหลักดังแสดงหลักฐานข้างต้น

หากรวมกับจารึกพบที่จำปาศักดิ์ในบริเวณที่เรียกว่าปราสาท​โรงสีดาในนครจำปาศักดิ์และจารึกพระบาทที่เชิงไพรในกำปงจามก็จะเป็นจารึกจำนวน ๑๑ หลักที่มีข้อความเดียวกันและแตกต่างในการกล่าวบูชาเทพประจำอาศรมนั้นตามพื้นที่ซึ่งนำไปประดิษฐาน กรณีที่พระเจ้ายโสวรมันที่ ๑ สร้างอาศรมเพื่อเป็นที่พักกลางทางสำหรับนักบวชและราชวงศ์ และมอบจารึกไปทั่วกล่าวกันว่ากว่า ๑๐๐ แห่งในช่วงปีแรกแห่งรัชกาล และเมื่อมาพบที่โบราณสถานเพนียด เชิงเขาสระบาปจึงน่าจะเป็นหลักฐานสำคัญในการวิเคราะห์สภาพบ้านเมืองในบริเวณเมืองจันทบุรีโบราณได้อย่างดี เพียงแต่ต้องคลี่คลายในรายละเอียดอันคลุมเครือที่มีมาของหลักฐานต่างๆ เสียก่อน