ต่อมาสำหรับชื่อ ‘ควนคราบุรี’ น่าจะมาจากอะไร เมื่อค้นต่อใน ‘กัมโพช ประวัติศาสต์แห่งกลุ่มเมืองนครวัด เล่ม ๓’ [Le Cambodge Le groupe d'Angkor et l’histoire] ของเอเตียน เอมอนิเยร์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ หรือ ค.ศ. ๑๙๐๔ พบว่าในช่วงที่มีการกล่าวถึงกษัตริย์ผู้สร้างเมืองหางหรือแหงนั้น เขากล่าวถึงข้อมูลจากหนังสือชื่อ ‘ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม’ เขียน โดย ‘นิโกลาส์ แชร์แวส์’ นักเขียนและนักเดินทางชาวฝรั่งเศสที่ติดตามคณะเผยแพร่ศาสนาเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ แชร์แวส์เขียนถึงประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างสยามและกัมพูชาในช่วง พ.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๓๖ แถบเมืองจันทบุรีและชลบุรีที่เอมอนิเยร์ เชื่อว่ามีคนเชื้อสายเขมรถูกตียึดครองไปเป็นของสยาม
ต่อมาใน พ.ศ. ๑๙๒๕ ในยุค ‘ราชาดำ’ ผู้ไปตีเชียงใหม่ก็นำผู้คนมาอยู่ที่จันทบุรี ต่อมากัมพูชายกทัพมานำผู้คนกลับไป ๖,๐๐๐ คน แล้วในปีต่อมานครธมจึงถูกตีแตกไป ตรงนี้แชร์แวส์และเอมอนิเยร์เข้าใจผิด เพราะราชาดำหรือองค์ดำคือสมเด็จพระนเรศวรฯ แต่เหตุการณ์นี้อยู่ในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวรที่ยกทัพไปตีเชียงใหม่แล้วกัมพูชายกทัพมากวาดต้อนผู้คนที่จันทบุรีและชลบุรี หลังจากนั้นในรัชกาลเจ้าสามพระยา กษัตริย์กัมพูชาที่นครธมคือ ‘พระเจ้าธรรมาโศก’ มากวาดต้อนผู้คนไปอีก เจ้าสามพระยาจึงยกทัพไปตีนครธมและให้พระอินทรราชา โอรสปกครองนครธมในฐานะเมืองประเทศราชต่อไป
เอกสารของ ‘แชร์แวส์’ กล่าวถึงเมืองจันทบุรีที่เอมอนิเยร์เอาไปอ้างในหนังสือของตนว่า
...สร้างโดย’เจ้าเมืองหาง’ (Chaou Moeung Hang) ผู้มีฉายาว่า ราชาดำ ซึ่งเป็นผู้สร้างพิษณุโลกได้เป็นผู้ก่อตั้งเมืองนี้บนฝั่งแม่น้ำสายหนึ่งซึ่งมีชื่ออย่างเดียวกัน จันทบุรีเป็นเมืองชายแดนของเขมร อยู่ห่างจากฝั่งทะเลเป็นระยะทางวันหนึ่ง ไทยกับเขมรได้รบกันเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๓๖ เพื่อแย่งกันครอบครอง ‘เมืองจันทบูน’ ซึ่งบางทีก็เรียกว่า ‘เมืองจันทบุรี’ [Chandraburi] คือเมืองแห่งพระจันทร์ และอีกเมืองหนึ่งชื่อว่า เมืองชลบุรี (Choloburi) หรือเมืองจุลบุรี (Culapuri) คือเมืองเล็ก๙
ส่วนเอกสารกัมโพชของเอมอนิเยร์เขียนชื่อสถานที่ทั้งสองโดยมีการวงเล็บจากความเข้าใจของเขาซึ่งต่างจากแชร์แวส์คือ ‘Chantaboun (Candrapura?) และ Cbonbouri หรือ Clioloborei (CulapurI?)’ แต่ทั้งคู่ก็เข้าใจไปว่าชื่อ ‘จันทบุรีหรือจันทปุระ’ หมายถึงเมืองแห่งพระจันทร์ ที่ไม่ใช่ไม้หอม และ ‘ชลบุรี’ ที่หมายถึงเมืองแห่งสายน้ำที่ไม่ใช่เมืองเล็กๆ ดังที่พวกเขาเข้าใจ
ทั้งหมดนี้คือร่องรอยที่ค้นจากหนังสือชุดกัมโพชของเอเตียน เอมอนิเยร์ ที่ถูกอ้างอิงจากข้อมูลจากพระวิภาชวิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) หรือในอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ๕ จังหวัดฯ ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ เรื่องจันทบุรีของนายตรี อมาตยกุล แต่แปลงความไปเป็นความหมายอื่นที่ไม่ตรงกับข้อมูลในเอกสาร แต่ก็อ้างอิงคัดลอกต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ แม้แต่ในอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ฯ ซึ่งเป็นหนังสืออ้างอิงในระดับประเทศก็ยังไม่ได้แก้ไขแต่อย่างใด
ต่อมาการศึกษาทางฝ่ายไทยที่พบว่า ‘จารึกเพนียด ๑’ น่าจะมีความสำคัญ เกิดจากนักภาษาโบราณจากกรมศิลปากร ศึกษาจารึกหลักหนึ่งที่ได้มาจากจำปาศักดิ์ เรียกว่า ‘จารึกโรงนางสีดา’ พบในตำบลหนองเวียน นครจำปาศักดิ์ ซึ่งทางคณะอ่านจารึกไทยไปทำสำเนาจากจำปาศักดิ์ ที่เจ้าบุญอุ้มขอความช่วยเหลือมาถึงรัฐบาลไทยในช่วงก่อนสงคราม พ.ศ. ๒๕๑๙ ในลาว ซึ่งมีข้อความเดียวกับจารึกบนเสาหินที่ตำบลพระบาท อำเภอเชิงไพร [Cheung Prey] ในจังหวัดกำปงจาม ตั้งอยู่ทางเหนือของพนมเปญและอยู่ระหว่างแม่น้ำโตนเลสาบและแม่น้ำโขง
เนื้อความเป็นฉบับเต็มจากทั้งสองแห่งว่าเป็นจารึกของ ‘พระเจ้ายโศธรวรมันที่ ๑’ พ.ศ. ๑๔๓๒ เป็นโศลกคาถาอักษรขอมโบราณประพันธ์เป็นฉันท์รูปแบบต่างๆ ภาษาสันสกฤตด้านหนึ่งและอักษรอินเดียเหนือ ภาษาสันสกฤตข้อความเช่นเดียวกัน ซึ่งด้านที่ ๑ จะเป็นจารึกอักษรขอมโบราณ เป็นโศลกภาษาสันสกฤต ๔๙ บท และมีข้อความร้อยแก้วภาษาเขมรสั้นๆ ไว้ตอนท้าย ด้านที่ ๒ จารึกด้วยอักษรอินเดียเหนือ ภาษาสันสกฤต (อาจจะเป็นอักษรพราหมีฝ่ายเหนือมากกว่าอักษรเทวนาครีที่นิยมใช้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เป็นต้นมาซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากนั้น) เนื้อความตรงกับด้านที่ ๑ และมีจารึกอักษรขอมโบราณที่ตรงกับด้านแรกในภาษาเขมร๑๐
สำเนาภาพชิ้นส่วนจารึกเพนียด ๑ ด้านหน้าและหลัง น่าจะเป็นจารึกที่ผู้พบคือ
‘บาทหลวงฟรองซัวส์ ชมิทต์’ [François Schmitt] ซึ่งเป็นบาทหลวงที่สนใจใน
ภาษาโบราณ ทำงานสำรวจและศึกษาจารึกร่วมกับ ‘นายปาวี’ พบแผ่นจารึกที่
‘เจดีย์จันทบุรี วัดกลาง’ ในเมืองจันทบุรี