ผู้เข้าชม
0
13 พฤศจิกายน 2567

‘….ในบทสามรัฐได้ อธิบายไว้แล้วว่า แม่น้ำแตกหลวง คือแม่น้ำคงไหลไปลงอ่าวตังเกี๋ย และแม่น้ำแตกน้อยคือแม่น้ำคำไหลจากหนองกระแสน้อย (สระลูกที่ ๒) ไปร่วมกันแม่น้ำแดงลงอ่าวตังเกี๋ย เมื่อรู้จักหนองใหญ่ทั้งคู่ที่กล่าวชื่อมาแล้ว จะได้หาตำแหน่งของหนองใหญ่ในทิศอาคเนย์ (สระลูกที่ ๓) ต่อไป หนองนี้มีจุดสำคัญกล่าวในตำนานคือห้วยคำอยู่ข้างทิศเหนือกับแม่น้ำกุกะนที (กุกกุฏ นที) คือแม่น้ำกกอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห้วยคำหรือแม่น้ำคำ ตั้งต้นมาแต่หนองน้ำอ่างบนดอยมาแตะ ไหลผ่านดอยต่างๆ มายังดอยแม่สแลบ ซึ่งอยู่ทางใต้ของดอยตุง ลงสู่พื้นที่ราบที่บ้านเวียงสา อำเภอแม่จัน ผ่านถนนพหลโยธิน (แม่จัน-แม่สาย) ที่บ้านแม่คำ ไหลไปยังตะวันออกเฉียงเหนือผ่านบ้านแม่คำ หนองบัวและบ้านร้องข่าง ณ ที่นี้มีลำน้ำแม่จันมาลงร่วม แล้วโค้งลงใต้ผ่านถนนพหลโยธิน (แม่จัน เชียงแสน) หลังอำเภอเชียงแสน ผ่านดอยจันไปออกแม่น้ำโขงที่ บ้านสบคำข้างเหนือเมืองเวียงปรึกษา 



โบราณสถานถ้ำพระ อยู่เชิงดอยถ้ำพระ อำเภอเมืองเชียงราย
ที่มา: มิวเซียมไทยแลนด์-โบราณสถานถ้ำพระ

 

 

เหนือบ้านแม่คำขึ้นไปตามถนนพหลโยธิน (แม่จัน-แม่สาย) ระยะหนึ่งทางฝั่งตะวันตก ห่างถนนเข้าไปประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ มีชื่อถ้ำปลา ปัจจุบันจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง มีลำธารไหลออกจากถ้ำนี้ เรียกว่า ห้วยน้ำล้ำ ไหลไปทางทิศตะวันออกติดต่อกับลำน้ำแม่มะ ถ้ำปลาน้ำ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ำกุ่ม ซึ่งในตำนานเรียก ถ้ำกุมภ์ เล่าเป็นนิทานว่าเป็นที่พระทำภัตตกิจของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ส่วนแม่น้ำกุกะนทีหรือแม่กกนั้น ต้นน้ำมาจากเมืองสาดในแดนไทยใหญ่ ประเทศพม่า ผ่านเทือกเขามายังดอยหลักแต่ง ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ไหลผ่านบ้านท่าตอนและสบฝาง อันเป็นจุดที่แม่น้ำฝางลงร่วมกับแม่น้ำกก แล้วโค้งไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านดอยต่างๆ มาจนถึงดอยถ้ำพระ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเมืองเชียงราย จากเมืองเชียงรายไหลขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ จนออกบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บ้านสบกกข้างใต้เวียงปรึกษา

ลักษณะภูมิประเทศตั้งแต่ดอยถ้ำพระ อำเภอเมืองเชียงราย ตลอดมาจนท้องที่อำเภอแม่จันฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้กับอำเภอเชียงแสนฝ่ายใต้เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ แสดงว่าครั้งบรมโบราณเคยเป็นเวิ้งน้ำใหญ่ แล้วต่อมาได้แห้งตื้นเขินเป็นที่ราบเหมาะแก่การกสิกรรม 

ส่วนที่ยังเหลือเป็นร่องน้ำคือ ลำน้ำแม่กก ลำน้ำแม่ลาว ลำน้ำแม่ฮาง ฉะนั้น ท้องทุ่งราบนี้คือ หนองน้ำทิศอาคเนย์ ในตำนานเล่าว่า พระยาศรีสัตตนาคขุดควักจากหนองกระแสหลวงลงมายังหนองน้ำใกล้ถ้ำกุมภ์เกิดเป็นแม่น้ำขลนที (ขรนที) ผู้แต่งตำนานสมมติเอากระแสน้ำที่ไหลเซาะแผ่นดินคดเคี้ยวคล้ายงูเลื้อยเป็นนาคราชจึงตรวจดูในแผนที่ พบที่หนองกระแสหลวงตอนใต้มีลำน้ำไหลออกมาติดต่อกับแม่น้ำโขง (ลานฉาง) ก็ทราบได้ว่าในแม่น้ำโขงช่วงนี้เรียกแม่น้ำชลนที อันแม่น้ำโขงนั้นเป็นลำน้ำใหญ่ไหลผ่านมาแต่ประเทศจีนตอนเหนือลงมายังแคว้นยูนนาน

ดังนั้นลำน้ำช่วงนั้นคือแม่น้ำมหิ ตำนานกล่าวอีกว่า พระยาศรีสัตตนาคได้ขุดควักลำน้ำอีกสายหนึ่งทางทิศอาคเนย์ เรียกแม่น้ำอู แม่น้ำอูนั้นไหลมาแต่ข้างเหนือของเมืองอูเหนือ เมืองอูใต้ ผ่านเมืองพงสาลี เมืองหัน ปากอู เมืองหลวงพระบาง เมืองปากสาย ออกบรรจบแม่น้ำโขงที่บ้านปากเหือง ตรงข้ามอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย 

ฉะนั้น ดินแดนประเทศจีนลงมาจนภาคเหนือของประเทศไทยสยาม แคว้นตังเกี๋ย (เวียดนาม) โดยถือแม่น้ำแดงแม่น้ำดำเป็นสำคัญ และแคว้นหลวงพระบางเป็นอุตรกุรุทวีป