ผู้เข้าชม
0
10 กรกฎาคม 2567

Etienne Aymonier นักภาษาศาสตร์และนักสำรวจชาวฝรั่งเศส สำรวจโบราณสถาน

ในอาณานิคมของฝรั่งเศสอย่างเป็นระบบในกัมพูชา ไทย ลาว และเวียดนามตอนใต้

โดยพิมพ์ในเอกสารชื่อ ‘Le Cambodge Le groupe d'Angkor et l’histoire’ ช่วง ๑๙๐๐-๑๙๐๔,

ที่มา: วิกิพีเดีย

เมื่อค้นข้อมูลแล้วปรากฏว่าข้อมูลที่อ้างอิงดังกล่าวมาจากหนังสือ ‘กัมโพช ประวัติศาสตร์แห่งกลุ่มเมืองนครวัด’ [Le Cambodge Le groupe d'Angkor et l’histoire] ซึ่งมีทั้งหมด ๓ เล่ม เขียนโดย เอเตียน เอมอนิเยร์ [Etienne Aymonier] โดยเนื้อหาในเล่มที่ ๒ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ หรือ ค.ศ. ๑๙๐๑ กล่าวว่า มีผู้พบจารึกที่จันทบุรีคือ บาทหลวงฟรองซัวส์ ชมิทต์’ [François Schmitt] ซึ่งเป็นบาทหลวงที่สนใจในภาษาโบราณและทำงานสำรวจและศึกษาจารึกร่วมกับ ‘นายปาวี’ [Jean Marie August Pavie]

โดยพบแผ่นจารึกที่ เจดีย์จันทบุรี วัดกลาง ในเมืองจันทบุรี โดยใช้ชื่อตามภาษาสันสกฤตว่า Candanapura (โดยคำนี้ผู้แปลมาเป็นข้อมูลในภาษาไทยน่าจะเข้าใจว่าเป็นชื่อเมืองเก่าที่เชิงเขาสระบาปและกลายเป็นคานคราบุรีหรือควนคราบุรีตามความเข้าใจส่วนตน) 

โดย เอเตียน เอมอนิเยร์ ได้อภิปรายเกี่ยวกับชื่อของ Candanapura ไว้ในเอกสารเรื่องกัมโพช เล่ม ๓ ที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ และในเวลานั้นนายเอเตียน เอมอนิเยร์ ยังไม่เคยเดินทางไปยังเมืองจันทบุรี และเขาอ้างว่านำมาจากเชิงเขาด้านข้างของเขาสระบาปที่ตั้งอยู่ห่างจากปากน้ำจันทบุรีราว ๑๐ กิโลเมตร

จารึกเขียนด้วยภาษาสันสกฤต อักษรขอม มีอยู่ ๘ บรรทัด เขากำหนดอายุไว้ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ ซึ่งเป็นกษัตริย์เขมรในระหว่าง พ.ศ. ๑๕๑๐-๑๕๕๐ เอมอนิเยร์ยังกล่าวอีกว่า ข้อความในจารึกเป็นธรรมเนียมการเขียนที่พบได้ทั่วไปและเขาพบเห็นหลายหลักจากการศึกษาจารึกต่างๆ ในกัมพูชา ซึ่งเนื้อหาเป็นคำสั่งที่มอบให้ทำในนามของกษัตริย์ ธรรมเนียมปฏิบัติของบรรดาบุคคลต่างๆ ซึ่งจารึกนี้น่าจะเป็น จารึกเพนียด ที่บันทึกไว้ว่าพบที่เมืองเพนียด ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี และหลวงสาครคชเขตต์บันทึกไว้ว่า
 

...มีผู้ขุดได้นำไปไว้ที่วัดทองทั่ว แต่ต่อมาภายหลังเมื่อระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๗ (ร.ศ. ๑๒๓) หลังจากที่ฝรั่งเศสได้ถอนกองทหาร ออกจากจันทบุรีไปตั้งที่จังหวัดตราดแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เสด็จเยี่ยมจังหวัดจันทบุรีแล้วพระองค์ท่านมีโอกาสไปตรวจภูมิประเทศพื้นที่บริเวณที่ตั้งเมืองเก่านั้นด้วย จึงได้ทรงนำศิลาจารึกชิ้นดังกล่าวเข้าไปไว้ในกรุงเทพฯ (เข้าใจว่าปัจจุบันนี้คงรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) นอกจากศิลาจารึกที่กล่าวแล้ว ยังปรากฏว่ามีศิลาที่ขุดได้ภายในบริเวณตัวเมืองนั้นอีกหลายชิ้น เวลานี้ (ราว พ.ศ. ๒๔๙๕) ยังรักษาอยู่ที่ลานหน้าพระอุโบสถวัดทองทั่วก็มี รักษาอยู่ที่บริเวณโรงเรียนเบญจมราชูทิศภายในตัวเมืองปัจจุบันก็มี...๘ 
 

ซึ่งบริเวณโรงเรียนเบญจมราชูทิศนั้นใช้พื้นที่วัดกลางที่เป็นบริเวณเดียวกับการพบชิ้นส่วน ‘จารึกเพนียด ๑’ ซึ่งเอ่ยถึงโดยบาทหลวงฟรองซัวส์ ชมิทต์