จากการศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทิวา ศุภจรรยา อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากการสำรวจทางโบราณคดีของกรมศิลปากร พบเมืองโบราณในแอ่งเชียงรายมากกว่า ๑๒๐ เมือง และบริเวณที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นเมืองโบราณอีกประมาณ ๔๐ แห่ง
เมืองโบราณสำคัญแต่ละแห่ง มักมีระยะห่างจากเมืองใหญ่อีกแห่งที่ใกล้ที่สุด ค่อนข้างเป็นระยะแน่นอน คือ ๓๐ หรือ ๖๐ กิโลเมตร โดยมีชุมชนเล็กๆ ที่เรียกในตำนานต่างๆ ว่า บ้าน กระจายตัวอยู่ตามเส้นทางสัญจร เมืองเหล่านี้กระจายตัวอยู่ตามแนวขอบของแอ่งที่ราบ หรือบริเวณที่เป็นเชิงเขา แต่ไม่ห่างจากแม่น้ำสายหลักมากนัก โดยพื้นที่เหล่านี้จะไม่ได้รับผลกระทบในฤดูน้ำหลาก และยังสะดวกต่อการติดต่อคมนาคมและการค้ากับเมืองอื่นๆ
เมืองโบราณในแอ่งที่ราบเชียงราย
ที่มา: กรมศิลปากร-กลุ่มเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
ลุ่มน้ำกก เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของเมืองโบราณในภูมิภาคนี้อีกที่หนึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ นัก-ประวัติศาสตร์ชื่อดัง เชื่อว่าลุ่มแม่น้ำกกเป็นศูนย์กลางสำคัญของสังคมและอารยธรรมก่อนปี พ.ศ. ๑๘๐๐ ชื่อแม่น้ำอาจมาจากต้นกกที่ขึ้นอยู่โดยรอบ หลักฐานทางโบราณคดีที่มาสนับสนุนแนวคิดนี้ มีการพบซากเมืองโบราณกว่า ๓๐ แห่งตามสองฝั่งแม่น้ำในจังหวัดเชียงรายและอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซากเมืองเหล่านี้คาดว่าสร้างขึ้นหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗ แต่มีการอยู่อาศัยของชนชาติไต-ไทในพื้นที่นี้มาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ศูนย์กลางการปกครองได้ย้ายจากแม่น้ำสายมาสู่แม่น้ำกก และขยายอิทธิพลลงทางใต้
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อพญามังราย กษัตริย์แห่งเมืองเงินยาง สร้างเมืองเชียงรายในปี พ.ศ. ๑๘๐๕ และต่อมาในปี พ.ศ. ๑๘๓๙ ได้ย้ายเมืองหลวงลงมาสร้างเชียงใหม่ริมแม่น้ำปิง นับแต่นั้นศูนย์กลางอารยธรรมล้านนาก็ย้ายจากลุ่มแม่น้ำกกมาสู่ลุ่มแม่น้ำปิง และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ภาพที่ถูกบันทึกไว้ของอาจารย์มานิต วัลลิโภดมและอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่สบกก สามเหลี่ยมทองคำ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สองพ่อลูกได้เคยเดินทางร่วมกันไปสำรวจทางโบราณคดีและภูมิวัฒนธรรมในแถบจังหวัดภาคเหนือเมื่อหลายทศวรรษก่อน ทำให้ต้องไปค้นข้อมูล ‘๓ บทรัฐสุวรรณโคม’ ในบทความ 'สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน' ของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒ เล่มที่ ๔ เดือนกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งให้ภาพของภูมิศาสตร์เมืองเชียงราย โดยเฉพาะด้านแม่น้ำผ่านตำนานและพงศาวดารตามภูมิศาสตร์โบราณคดี โดยเฉพาะ ‘ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ’
‘….เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ กรมศิลปากรตีพิมพ์หนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๒ เรื่องตำนานเมืองสุวรรณโคมคำออกเผยแพร่ ข้าพเจ้าสนใจอ่านแล้วอ่านเล่าอยู่หลายปี ทั้งหาโอกาสไปศึกษาพิจารณาภูมิประเทศในเนื้อเรื่อง เท่าที่สามารถจะกระทำได้ไปด้วย จึงถากกระพี้ คือข้อความที่แฝงอยู่ในสำนวนเทศนาออกใต้ เหลือแต่แก่นอันเป็นความสำคัญของเรื่องราว ทำให้ทราบว่า ตำนานเรื่องนี้เป็นตำราภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์มนุษย์ในสมัยโบราณนานไกล....’
การอธิบายภูมิศาสตร์ทางหนองน้ำขนาดใหญ่ แม่น้ำ มหาสมุทร จากดินแดนทางตอนใต้ของจีน อาจารย์มานิต ได้สังเคราะห์ฉายภาพให้เห็น โดยใช้พื้นฐานของตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ