ผู้เข้าชม
0
10 กรกฎาคม 2567

 

ภาพโบราณสถานที่เพนียดปัจจุบันในช่วงที่ยังไม่มีการขุดแต่งทางโบราณคดี

โดยมีศาลนางกาไวที่ชาวบ้านโดยรอบเคารพนับถือ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง  



ส่วนหนังสือที่หลวงสาครคชเขตต์นำเสนอไว้ใน ‘จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีฯ ภาคสาม สารคดีสมัยอดีตกาลและปัจจุบัน’ ข้อมูลในภาคสามในเรื่องราวของสารคดีนี้น่าจะเขียนขึ้นในราว พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๔๙๕ 


     เมืองจันทบุรีเป็นเมืองที่มีตำนานกล่าวว่าได้มาตั้งมาแต่ครั้งโบราณกาล มีเนื้อความปรากฏว่า มีบาทหลวงคนหนึ่ง (ไม่ปรากฏชื่อ) ได้พบแผ่นศิลาจารึกเป็นอักษรสันสกฤตที่ตำบลเขาสระบาป มีเนื้อความว่า เมืองจันทบุรีได้ตั้งมาช้านานประมาณ ๑,๐๐๐ ปีแล้ว ในเวลานั้นชื่อเมือง ‘คานคราบุรี’ เจ้าเมืองผู้สร้างชื่อหางหรือแหง คนพื้นเมืองเป็นชอง เมื่อประมาณ ๙๐๐ ปีมาแล้ว ครั้งนั้นไทยได้ยกกองทัพออกมาตีเจ้าเมืองนั้นได้มอบเมืองนั้นให้แก่ไทย ผู้มีชื่อว่า วาปสตนะอคารญะ เมืองนั้นกว้างขวางใหญ่โตมาก ตั้งอยู่ใกล้กับภูเขาสระบาป เดี๋ยวนี้ยังมีกำแพงก่อด้วยศิลาแลงและเชิงเทินปรากฏสังเกตเป็นเค้าเมืองได้ และมีแผ่นศิลาใหญ่ๆ สลักเป็นลวดลายอย่างโบราณเหลืออยู่บ้าง แผ่นศิลานี้สันนิษฐานได้ว่าเป็นซุ้มประตูและธรณีประตู เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า สถานที่นี้เป็นสถานที่ตั้งเมืองครั้งโบราณเป็นแน่ ถ้านับแต่หนังสือแคมโบช ซึ่งได้กล่าวไว้ข้างต้นนี้ ก็เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐

 

ตามข้อความที่กล่าวมานี้ เป็นข้อความที่ได้มาจาก พระวิภาชวิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) ซึ่งเคยเป็นศึกษาธิกามณฑลจันทบุรี แต่พระวิภาชวิทยาสิทธิ์จะได้ข้อความเหล่านี้มาจากท่านผู้ใดโดยหลักฐานอย่างไร ก็หาทราบตลอดไม่ และหนังสือฝรั่งที่ชื่อว่า แคมโบชหรือหนังสือที่มองสิเออร์อิติแอนนิโอโมเนียได้กล่าวไว้นั้น ผู้เขียนก็ไม่มีโอกาสได้พบเห็น ฉะนั้น ข้อความที่กล่าวไว้จะมีความจริงเพียงใด ก็ยากที่จะยืนยันได้

ทั้งในเรื่อง ‘เมืองจันทบุรี’ ของ ‘ตรี อมาตยกุล’ เขียนตอนตำนานเมืองจันทบุรีไว้ น่าจะในช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นช่วงหลังจากหนังสือของหลวงสาครคชเขตต์ตีพิมพ์ไปแล้วราว ๔ - ๕ ปี และหลังจากปรากฏข้อมูล ในอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ๕ จังหวัด พิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยปรากฏข้อความใกล้เคียงกันว่า 

 

     ‘จันทบุรีเป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งในประเทศไทย แต่จะเริ่มสร้างขึ้นเมื่อใดไม่สามารถจะหาหลักฐานแน่นอนได้ ปรากฏหลักฐานในหนังสือฝรั่งเศสชื่อ แคมโบช ซึ่งชาวฝรั่งเศสชื่อ ม. อีตีเมอร์ เขียนไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ว่า มีบาทหลวงองค์หนึ่งพบศิลาจารึกภาษาสันสกฤตที่ตำบลเขาสระบาป ในศิลาจารึกนั้นมีข้อความว่า เมื่อ ๑,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้ว มีเมืองหนึ่งชื่อ ควนคราบุรี เป็นเมืองที่มีอาณาเขตกว้างขวางมาก ตั้งอยู่เชิงเขาสระบาป ชาวเมืองเป็นเชื้อชาติชอง’