ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ นี้ ถือได้ว่ารถรางปิดกิจการมา ๕๖ ปีเข้าไปแล้ว หากนับจากขวบปีสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๕๑๑
เทิ้ม ภู่หอม หนึ่งในผู้ทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถรางสายดุสิตของการไฟฟ้านครหลวง ก่อนที่รถรางถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ย้อนอดีตในฐานะพนักงานขับรถรางรุ่นสุดท้ายผ่านการเผยแพร่ในเพจการไฟฟ้านครหลวง MEA ว่า
"มีความสุขมากตอนขับรถราง แม้จะตากแดดตากฝนบ้างในการปฏิบัติหน้าที่ จดจำได้หมดเกี่ยวกับการขับรถราง เสียดายเหมือนกันที่ประเทศไทยยกเลิกรถราง เศร้า ถ้ายังขับไหวก็จะขับ ชอบนะ ผมรักมาก มันสนุกดี รักมันมากกับรถราง มาเห็นรถไฟฟ้ายุคปัจจุบันก็ยังรักอยู่ ยังสวยอยู่…”
โบกี้รถรางไฟฟ้ายุคสุดท้ายปัจจุบันการไฟฟ้านครหลวงได้จัดเก็บรักษาไว้อย่างดี ที่การไฟฟ้านครหลวง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ตามเวลาทำการ
สำหรับภาพเคลื่อนไหวประวัติศาสตร์รถรางของประเทศไทยที่ยังหลงเหลืออยู่ แท้ ประกาศวุฒิสาร ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ แห่งบริษัทภาพยนตร์ไทยไตรมิตร ซึ่งได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้างภาพยนตร์) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บันทึกภาพรถรางขบวนสุดท้ายในสยาม ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ และมีการเผยแพร่ผ่านทาง Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์) ในชื่อว่า ‘รถรางวันสุดท้าย’ (Last Day of Bangkok Trams) ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นภาพยนตร์บันทึกภาพรถรางในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเปิดใช้งานมากว่า ๘๐ ปี ได้ออกรับส่งผู้โดยสารเป็นวันสุดท้าย ในวันที่ ๓๐ กันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๑๑
แท้ ประกาศวุฒิสาร ผู้สร้างภาพยนตร์คนสำคัญของไทย และเป็นผู้ใช้บริการรถรางมาตั้งแต่เป็นนักเรียน ได้ออกตระเวนทั่วกรุงเทพฯ พร้อมกับโสภณ เจนพานิช ช่างถ่ายภาพยนตร์คู่ใจ เพื่อบันทึกภาพรถรางสายที่ออกวิ่งรอบเมือง ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้า พระบรมมหาราช-วัง สนามหลวง วัดโพธิ์ ฯลฯ จนไปสุดที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า นับเป็นบันทึกความทรงจำครั้งสำคัญของสังคมไทยและประวัติศาสตร์การขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้ลงบรรยายเสียงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตนเอง เพื่อเผยแพร่ในวิดีทัศน์รวมผลงานคงเหลือของเขาชุด ‘หนังแท้’ ก่อนที่หอภาพยนตร์จะนำฟิล์ม ๓๕ มม. ที่แท้ ประกาศวุฒิสาร มอบให้อนุรักษ์มาสแกนภาพใหม่ ประกอบเสียงบรรยายที่แท้เคยทำไว้ เพื่อฉายในกิจกรรม ‘๑๐๐ ปี สุภาพบุรุษเสือแท้’ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒
ภาพรถรางวันสุดท้ายที่แท้ ประกาศวุฒิสาร ผู้สร้างภาพยนตร์คนสำคัญของไทย
พร้อมกับโสภณ เจนพานิช ช่างถ่ายภาพยนตร์คู่ใจ บันทึกภาพรถรางสายที่ออกวิ่งรอบเมือง
ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้า พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง วัดโพธิ์ ฯลฯ จนไปสุดที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า
ที่มา: เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
สำหรับเสียงบรรยายในภาพยนตร์ แท้กล่าวถึงวันที่บันทึกภาพยนตร์ว่าเป็นวันที่ ๑๑ กันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ แต่ความจริงแล้วเป็นวันที่ ๓๐ กันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๑๑)