บริเวณฝั่งตะวันตกของเขาสระบาปในอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี มีร่องรอยทั้งศาสนสถานและคันดินที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณอันเนื่องจากวัฒนธรรมเขมรยุคก่อนเมืองพระนครจนถึงสมัยเมืองพระนคร เรียกกันในปัจจุบันว่า ‘เมืองเพนียด’ ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า ‘เมืองนางกาไว’ ตำนานเรื่องนางกาไวนี้มีอิทธิพลความเชื่อแบบกลุ่มชาวชองซึ่งกล่าวกันว่าเคยอยู่อาศัยเป็นกลุ่มชาวชองอย่างชัดเจนในละแวกนี้
ข้อมูลเบื้องต้นในการเขียนและศึกษาประวัติศาสตร์จันทบุรีในท้องถิ่นเมืองจันทบุรีและประเทศสยามหรือประเทศไทย ภาพรวมมักกล่าวถึงเมืองโบราณที่อยู่เชิงเขาสระบาปในชื่อ ‘ควนคราบุรี’ หรือ ‘คานคราบุรี’ ตั้งแต่เริ่มบอกกล่าวถึงข้อสันนิษฐานความเป็นมาในอดีตของเมืองโบราณที่เชิงเขาสระบาป ตั้งแต่น่าจะหลังการเข้ามาสำรวจทางโบราณคดีของนักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่ถูกจ้างมาสำรวจหลังจากได้คืนดินแดนจันทบุรีแก่สยามแล้ว ราว พ.ศ. ๒๔๕๐ และยังใช้ข้ออ้างอิงสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้
จากเอกสาร ‘อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ๕ จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ระยอง’ ทั้ง ๕ จังหวัดนี้เคยขึ้นอยู่กับมณฑลปราจีนเดิมและจังหวัดใกล้เคียงที่คณะกรรมการราชบัณฑิตยสถานได้ทำขึ้นมาก่อนหน้า โดยตั้งใจจะให้เป็นคู่มือแบบคำค้นในการศึกษาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ในช่วงยุคสมัยนั้น กระบวนการจัดพิมพ์น่าจะอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๒ กล่าวถึงเมืองจันทบุรีว่า
...มีซากเมืองเก่าอยู่ ๒ แห่ง แห่งหนึ่งอยู่ในตำบลพุงทลาย อ.เมืองฯ ยังมีคูเมืองและเชิงเทินพอสังเกตได้ อีกเมืองหนึ่งอยู่ในตำบลคลองนารายณ์ ชาวบ้านเรียกว่าเมืองพะเนียดบ้าง เมืองกาไวบ้าง มีผู้ขุดพบศิลาจารึกที่วัดพะเนียดซึ่งเป็นวัดโบราณอยู่ทางทิศใต้กำแพงเมืองราว ๔๐๐ ม. (ศิลาจารึกอยู่ในพิพิธภัณฑสถาน) ในบริเวณเมืองยังมีศิลาแผ่นใหญ่ๆ สลักเป็นลวดลายอย่างโบราณเหลืออยู่บ้าง และยังมีเค้าเชิงเทินและถนนใหญ่ ๒ สาย และน่าจะเป็นเมืองเดียวกับที่มองสิเออร์เอยโมเมอร เขียนเรื่องราวในหนังสือ ‘แคมโบช’ ค.ศ. ๑๙๐๑ ว่า มีบาดหลวงคนหนึ่งได้พบแผ่นศิลาจารึกอักษรสันสกฤตที่ ตำบลเขาสระบาป มีข้อความว่า จังหวัดจันทบุรีได้ตั้งมาช้านานประมาณ ๑,๐๐๐ ปีแล้ว ในเวลานั้นเรียกว่า ควนคราบุรี (น่าจะเป็นจันทบุรี แต่ที่เขียนไว้เช่นนี้ คงจะเป็นด้วยผู้เขียนแปลผิดหรือเขียนผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง) ผู้สร้างเมืองชื่อหางหรือแหง คนพื้นเมืองเป็นชอง เมื่อประมาณ ๙๐๐ ปีมาแล้ว ไทยยกกองทัพไปตี เจ้าเมืองได้มอบเมืองให้แก่ไทยชื่อ วาปสเตนและอาคารยา...๑
ภาพโบราณสถานที่เพนียดปัจจุบันในช่วงที่ยังไม่มีการขุดแต่งทางโบราณคดี
เมื่อไปเยี่ยมชมในช่วงหน้าฝนก็จะเห็นภาพของการกักเก็บน้ำได้ชัดเจน
โดยข้อมูลจาก ‘อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ๕ จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ระยอง’ ที่พิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ นี้ปรากฏข้อความเดิมอยู่ในฐานข้อมูลออนไลน์ของเว็บไซต์ราชบัณฑิตยสภา และถูกแก้ไขบางส่วนเกี่ยวกับชื่อควนคราบุรีในที่สุดเมื่อไม่นานนี้๒