ผู้เข้าชม
0
10 กรกฎาคม 2567

เพราะพบหลักฐานการอยู่อาศัยในยุคต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ในรัชกาลพระเจ้ายโสวรมันที่ ๑ และการพบจารึกหนึ่งใน ๑๑ หลักซึ่งมีข้อความเหมือนกันและอาจจะมีมากกว่า ๑๑ หลักนั้นถือว่าบริเวณเมืองเพนียดเป็นอาณาบริเวณสำคัญแห่งหนึ่ง และเมื่อดูจากพื้นที่ซึ่งพบจารึกแล้ว เห็นว่าอยู่ในแนวชุมชนบริเวณลุ่มน้ำโขงและต่อเนื่องกับลำน้ำทะเลสาบและลำน้ำบาสัค รวมถึงบริเวณก่อนเมืองพระนครและหัวเมืองที่จะติดต่อกับเส้นทางทางทะเลได้สะดวกคือบันทายมาศทางหนึ่ง พระตะบองและเพนียดในจันทบุรีอีกทางหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานได้ถึงกลุ่มเมืองสำคัญที่มีความต่อเนื่องกับความสำคัญในเส้นทางการค้าและเมืองท่าชายทะเลและการแลกเปลี่ยนสินค้าจากป่าเขาที่สูงภายในและสินค้าจากภายนอกตั้งแต่ยุคสมัยเจนละที่อีสานปุระ อันเป็นช่วงที่การค้าทางทะเลในสมัยปลายราชวงศ์ถังและราชวงศ์เหลียงในระยะเริ่มสร้างเมืองพระนครในรัชกาลนี้

ในยุคนี้น่าจะมีการสร้างบารายหรือสระน้ำขอบยกสูงบนผืนดิน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ๒ สระ เหนือและใต้ขนาดราว ๖๐ เมตร และ ๔๐ เมตร วางตัวในแนวยาวทางทิศตะวันออกและตะวันตก น่าจะเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นร่วมสมัยกับจารึกพระเจ้ายโสวรมันที่ ๑ ที่ให้สร้างอาศรมและมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้คนผู้มีความแตกต่างถือปฏิบัติ พระองค์เป็นผู้สร้างบารายตะวันออกขนาดมโหฬารที่เมืองพระนคร ปราสาทและศาสนสถานอีกหลายแห่ง

การอยู่อาศัยที่เมืองเพนียดยังคงมีความต่อเนื่องในวัฒนธรรมเขมรในยุคก่อนเมืองพระนครและแบบเมืองพระนคร เพราะพบโบราณวัตถุ เช่น สิงห์ เทวรูปขนาดเล็ก เสาประดับกรอบประตู หน้าบันแกะลวดลายแบบบาปวน น่าจะมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ 

ชุมชนที่เมืองเพนียดนี้สัมพันธ์กับการขยายเส้นทางการค้าในยุคสมัยราชวงศ์ถังของจีนต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดีศรีวิชัย โดยมีบ้านเมืองร่วมสมัยกับยุคทวารวดีในแถบลุ่มเจ้าพระยา, กลุ่มบ้านเมืองศรีวิชัยแถบคาบสมุทร และกลุ่มบ้านเมืองแบบจามที่อาจเรียกว่าเป็นสหพันธรัฐจามปาแถบชายฝั่งภาคกลางของเวียดนามปัจจุบัน โดยมีแกนกลางทางวัฒนธรรมแรกเริ่มแบบเจนละที่เห็นชัดในการเข้ามาของวัฒนธรรมความเชื่อจากอินเดีย โดยสัมพันธ์กับบ้านเมืองขนาดใหญ่ที่อีสานปุระ สู่การเริ่มต้นเป็นบ้านเมืองระดับอาณาจักรที่เมืองพระนคร และเห็นร่องรอยชัดเจนเพียงนี้โดยไม่น่าจะมีช่วงเวลาที่เกินเลยมาจนถึงในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งชุมชนที่นี่น่าจะค่อยๆ ลดบทบาทลงในฐานะเมืองท่าทางการค้าแห่งหนึ่งของอาณาจักรเขมรที่เมืองพระนคร 

กลุ่มเมืองที่เพนียดเกาะกลุ่มอยู่ในบริเวณบารายหรือสระน้ำขนาดใหญ่ตามแนวคลองนารายณ์ที่ไหลจากหุบเขาหนึ่งในกลุ่มเขาสระบาป มีโบราณสถานโดยรอบที่วัดเพนียดร้างดูจะเป็นกลุ่มใหญ่ และอีกกลุ่มหนึ่งน่าจะอยู่ที่วัดสมภารร้างที่เป็นกลุ่มโบราณสถานที่มีโบราณวัตถุไม่น้อยอยู่ริมคลองสระบาปที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ไม่ไกลกัน โบราณสถานทั้งสองกลุ่มน่าจะอยู่ในรัศมีไม่เกิน ๑.๕ ตารางกิโลเมตร ถือว่าเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่พอสมควรในดินแดนภูมิภาคตะวันออกชายฝั่งทะเลนี้ หากเปรียบเทียบกับบ้านเมืองร่วมสมัยที่เมืองพระรถที่พนัสนิคมที่มีขนาดราว ๑.๓ ตารางกิโลเมตร และมีผู้อยู่อาศัยตั้งเป็นชุมชนในช่วงเวลาร่วมสมัยและต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

บริเวณนี้มีการค้าทางทะเล โดยการนำของป่าจากเทือกเขาภายในเป็นสินค้าส่งออก ชุมชนที่นี่อาจจะเป็นผู้คนที่มีความชำนาญการเดินเรือค้าขายทางทะเลเลียบชายฝั่ง เช่น ‘ชาวจาม’ จากชายฝั่งทะเลเวียดนามและผู้คนหลากกลุ่มที่ผสมปนเปอันเป็นลักษณะบ้านเมืองที่เป็นเมืองท่าภายใน มีระบบการเมืองที่สัมพันธ์กับเครือข่ายทางการเมืองแบบเจนละและแบบเขมรเมืองพระนครดังกล่าวข้างต้น ส่วนกลุ่มผู้มีความชำนาญในการเก็บของป่าทางแถบนี้คือ ‘ชาวชอง’ แถบเชิงเขาสระบาปและที่อยู่ภายในป่าเขาจำเป็นต้องพึ่งพาคนจามนักเดินเรือทางทะเลเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าอันเป็นส่วนหนึ่งของระบบการค้าทางทะเลที่มีมานานนับพันปีก่อนหน้านั้น

 


เชิงอรรถ

๑. จากเนื้อหาที่เป็นข้อมูลปริมาณน้ำฝนล่าสุดในจังหวัดจันทบุรีก่อนพิมพ์อยู่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ดังนั้นการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนน่าจะอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๒, กรมศิลปากร. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ระยอง, ๒๔๘๒. 

๒. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย จันทบุรี. ข้อมูลใช้เช่นเดียวกับฉบับพิมพ์ ‘อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ๕ จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ระยอง’ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒, เช่น..จังหวัดจันทบุรี เดิมเป็นเมืองโบราณ สันนิษฐานว่า น่าจะมีอายุในปลายสมัยฟูนันเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ปัจจุบันยังมีซากกำแพงก่อด้วยศิลาแลง มีเชิงเทินเศษอิฐและหิน ถนนปูด้วยศิลาแลง ปรากฏเป็นเค้าเมืองเดิมอยู่ที่หน้า ข.สระบาป ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี และยังพบจารึกและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นศิลปะของเขมรระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๘ แสดงว่าที่ตั้งของเมืองจันทบุรีเคยเป็นดินแดนที่อยู่ใต้อิทธิพลของเขมรโบราณมาเป็นเวลาช้านานแล้ว นอกจากนี้ ยังมีผู้ยืนยันว่าได้พบศิลาจารึกเป็นอักษรสันสกฤตที่บริเวณเขาสระบาป มีเนื้อความว่า เมืองจันทบุรี แต่เดิมชื่อ คราควนบุรี ตั้งมาประมาณ ๑,๐๐๐ ปีแล้ว พลเมืองเป็นชนชาติชอง ซึ่งคงจะสืบเชื้อสายมาจากเขมรโบราณ ปัจจุบันชนชาตินี้ก็ยังมีพบอยู่ในพื้นที่ชายแดนจันทบุรีติดต่อกับกัมพูชาในท้องที่อำเภอมะขาม และอำเภอโป่งน้ำร้อน เข้าใจว่าแต่เดิมชนชาตินี้คงจะตั้งถิ่นฐานอยู่ตามท้องที่ต่าง ๆ ในเมืองจันทบุรี เพิ่งจะถอยร่นเข้าป่าดงไปเมื่อไทยมีอำนาจเข้าครอบครองเมืองจันทบุรีในสมัยอยุธยา.... เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, http://legacy.orst.go.th/?page_id=143 ปัจจุบัน (๖/๗/๒๕๖๗) มีการแก้ไขบางส่วนแล้ว

ราชบัณฑิตยสภานั้นจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ต่อมาแยกไปจัดตั้งเป็นสำนักงานราชบัณฑิตยสถาน ขึ้นกับกรมศิลปากร ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ และเปลี่ยนเป็นสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๕๘, งานอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ถือเป็นงานหลักที่ทำมาตั้งแต่เริ่มแรกตั้ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานวิชาการ การผลิตตำราในยุคสมัยก่อนหน้านี้ จนถึงเมื่อพิมพ์งานฉบับนี้อยู่ในยุคสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และหลวงวิจิตรวาทการเป็นเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานคนแรก โดยมีภาคีราชบัณฑิตเขียนงานต่างๆ และมีราชบัณฑิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยมีการแบ่งกิจการในช่วงเริ่มต้นของราชบัณฑิตยสถานยึดหลักการของฝรั่งเศสแต่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม, อ้างใน เจริญ อินทรเกษตร,  ๕๐ ปีราชบัณฑิตยสถาน ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๗.

๓. ต้นฉบับของเอกสารภาคสามที่เป็นสารคดีเกี่ยวกับเมืองจันทบุรีพิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งภาคแรกนั้นพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ภาคสองเป็นเรื่องฝรั่งเศสยึดเมืองตราด พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๕ จึงนำทั้งสองเรื่องนั้นมาพิมพ์รวมกัน และเพิ่มสารคดีเกี่ยวกับเมืองจันทบุรี เป็นภาคสาม เอกสารที่นำมาเสนอในภาคสามนี้จึงน่าจะเขียนขึ้นในราว พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๔๙๕, หลวงสาครคชเขตต์ (ป.สาคริกานนท์). จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ .. ๒๔๓๖ ถึง .. ๒๔๔๗. ภาคสาม สารคดีสมัยอดีตกาลและปัจจุบัน. สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, ๒๕๕๒.

๔. ตรี อมาตยกุล. ประวัติเมืองจันทบุรี, ชุมนุมเรื่องจันทบุรี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางวรรณ จันทวิมล ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔. เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:2630 , คุณตรี อมาตยกุล เป็นผู้มีผลงานเขียนประวัติศาสตร์ในเชิงสารคดีและภูมิศาสตร์ของจังหวัดต่างๆ ถือเป็นผลงานในเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชิ้นแรกๆ ของประเทศไทย ซึ่งผลงานชิ้นนี้ ‘เมืองจันทบุรี’ และ ‘ประวัติเมืองจันทบุรี’ น่าจะเริ่มพิมพ์เพื่อการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๕๐๐ และอยู่ในเอกสารรวมเล่มต่างๆ มีการขอไปตีพิมพ์อีกมาก ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองจันทบุรีของคุณตรี อมาตยกุลเผยแพร่อย่างกว้างขวาง