ผู้เข้าชม
0
10 กรกฎาคม 2567

อย่างไรก็ตามมีเรื่องเล่าภายในท้องถิ่นของเมืองจันทบุรีกล่าวถึงการนำวัตถุจำนวนมากไปไว้ที่ ‘วัดกลาง’ ฝั่งตรงข้ามถนนกับวัดโบสถ์เมือง เช่น แผ่นหินทรายสลักถูกเกลาทำให้เป็นรูปร่างคล้ายหน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประทับเหนือหน้ากาล มือยุดท่อนพวงมาลัย ปลายพวงมาลัยเป็นนาค ๕ เศียร แบบยุคบาปวนในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ, สิงห์ ๒ ตัวแบบเมืองพระนครแล้วเคยอยู่ที่ ‘วัดกลาง’ ในเมืองจันทบุรี ก่อนจะถูกนำไปไว้ที่โรงเรียนชายประจำมณฑลจันทบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ซึ่งคือโรงเรียนเบญจมราชูทิศในปัจจุบันซึ่งอยู่ในพื้นที่ด้านหลังของวัดกลาง ทั้งข้อมูลท้องถิ่นยังกล่าวว่ายังมีร่องรอยอยู่อีกที่วัดหน้าพระธาตุ (ร้าง) ในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนหินทราย ฐานเทวรูปและชิ้นส่วนหินต่างๆ รวมทั้งแผ่นหินทรายแบบถาลาบริวัตครบชิ้นแม้จะมีรอยแตกหักเสียหาย เก็บรักษาไว้ที่ ‘วัดบน ตำบลบ่อพุ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรีที่ห่างออกไปราว ๑๒ กิโลเมตรด้วย  

กล่าวโดยสรุป จากร่องรอยโบราณและโบราณวัตถุจำนวนมาก แม้จะถูกเก็บรักษายังสถานที่ต่างๆ ด้วยปัจจัยในอดีตที่หาข้อสรุปได้ยากว่าคือเหตุผลใดอย่างแน่นอน แต่มีร่องรอยว่าน่าจะถูกรื้อไปสร้างบ้านสร้างเมืองเพื่อเตรียมตัวรับศึกญวน ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ในพื้นที่เมืองเพนียดนี้เห็นได้ชัดเจนว่ามีชุมชนขนาดใหญ่เริ่มตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ตั้งชุมชนอยู่บริเวณเชิงเขาสระบาปฝั่งตะวันตก บริเวณที่ราบเชิงเขาต่อกับที่ราบลุ่มต่ำของลำน้ำจันทบุรี โดยพบแผ่นหินลักษณะคล้ายหน้าบันมากกว่าจะเป็นแผ่นหินที่เป็นทับหลังแกะสลักลวดลายแบบกลุ่มโบราณสถานที่เมืองถาลาบริวัต ซึ่งสร้างอาคารศาสนสถานขนาดเล็ก ทับหลังรูปแบบการแกะสลักลวดลายแบบมกรที่เป็นสัตว์ผสมระหว่างจระเข้และช้าง คายลายเส้นที่นำไปสู่ครุฑกึ่งคนแคระยุดนาคไว้ทั้งสองมือ ตัวนาคนั้นมองไม่ชัดเป็นข้อสันนิษฐานเพราะด้านบนภาพนั้นถูกเกลาให้เป็นแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายทับหลัง ซึ่งพบจากกลุ่มโบราณสถานแห่งนี้ถึง ๓ ชิ้น และมีชิ้นเดียวที่มีครบเพียงแต่ชำรุดหักกลาง ส่วนชิ้นอื่น ด้านขวาบ้างด้านซ้ายบ้างหักหายไป พบที่กลุ่มโบราณสถานเพนียดแห่งเดียวในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังพบทับหลังและจารึกที่เกี่ยวเนื่องกับรัชกาลพระเจ้าอีสานวรมันที่ ๑ จากสมโบร์ไพรกุกต่อเนื่องกับไพรกเมงในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ เช่นกัน ถือว่าเป็นแหล่งที่พบโบราณสถานและร่องรอยที่เกี่ยวข้องรัฐโบราณที่เรียกว่า ‘เจนละ’ ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำโขง ถือว่าเห็นร่องรอยความสัมพันธ์กับชุมชนที่อยู่ในเส้นทางการค้าติดต่อระหว่างชายฝั่งทะเลและเส้นทางน้ำสายใหญ่ในลุ่มแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา

แผ่นหินทรายสลักถูกเกลาทำให้เป็นรูปร่างคล้ายหน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประทับเหนือหน้ากาล

มือยุดท่อนพวงมาลัย ปลายพวงมาลัยเป็นนาค ๕ เศียร แบบยุคบาปวนในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖

ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ วัดโบสถ์เมือง ริมแม่น้ำจันทบุรี



ซึ่งสามารถเดินทางเข้าสู่บ้านเมืองภายในตั้งแต่แคว้นศรีโคตรบูร ชุมชนในลุ่มน้ำมูล จำปาสักและวัดพูที่ภูเก้า เขตชายขอบทุ่งกุลาร้องไห้ ไปจนถึงแนวเชิงเขาพนมดงเร็ก ถาลาบริวัตที่สตึงเตรงซึ่งทั้งสองแห่งที่กล่าวถึงสามารถเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตกไปยังบ้านเมืองของสหพันธรัฐจามปาชายฝั่งทางเวียดนามตอนกลางได้สะดวก ไล่ลงมาจนถึงสมโบร์ไพรกุกที่ตั้งของรัฐขนาดใหญ่ที่ต่อเนื่องจากยุคนี้ที่เรียกว่า ‘อีสานปุระ’ สู่อังกอร์บอเรยและพนมดาดินแดนในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงยุคแรกรับวัฒนธรรมแบบอินเดีย ซึ่งที่เพนียดนั้นก็พบเศียรพระหริหระแบบพนมดาเช่นเดียวกัน