ชิ้นส่วนจารึกที่อาจจะแตกกระจัดกระจายมาจากจารึกวัดทองทั่ว-วัดไชยชุมพลหรือจารึกอื่น พบที่ค่ายตากสิน และในอาณาบริเวณเมืองเพนียด
โบราณวัตถุซึ่งเก็บไว้ที่ ‘วัดสระบาป’ นักวิชาการท้องถิ่นเช่น อุไรวรรณ รัตนวิระกุล สัมภาษณ์ชาวบ้านและข้อมูลอื่นๆ ประกอบก็เชื่อว่านำมาจาก ‘วัดสมภาร (ร้าง)’ ที่อยู่ฝั่งคลองตรงข้ามโดยไม่พบโบราณวัตถุดั้งเดิมที่วัดสระบาป เช่น ชิ้นส่วนพระหัตถ์ถือสังข์ ทำจากหินทราย, พระหัตถ์ถือคทาแปดเหลี่ยม, พระหัตถ์ทรงธรณี ชิ้นส่วนแขน ซึ่งทั้งหมดอาจจะเป็นพระวิษณุ, ศิวลึงค์หินทรายและแท่นใส่ศิวลึงค์, รางโสมสูตร, ฐานโยนี, ชิ้นส่วนหินทรายปลายงอนที่น่าจะใช้ประดับศาสนสถานแบบจาม ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดทองทั่ว
ส่วน ‘จารึกขลุง’ เป็นชิ้นส่วนแตกหักและมีข้อความไม่มากนัก กว้างด้านละประมาณ ๑๘ เซนติเมตร อักษรปัลลวะ รูปแบบอักษรสันนิษฐานว่าอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ร่วมสมัยกับจารึกวัดสระบาปและจารึกวัดทองทั่ว เป็นจารึกที่กล่าวถึงการทำบุญโดยพระราชาพระองค์หนึ่งไม่ทราบพระนามเพราะจารึกชำรุด และอาจมีนามของผู้เป็นใหญ่อีกผู้หนึ่งว่า ‘ศรี จันทรายณนาถะ’ ที่ปรากฏในบรรทัดต่อมา ประวัติว่า ผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่งขุดพบโดยบังเอิญ ขณะกำลังทำสวนพริกไทยซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ ศาลเจ้า ใกล้กับที่ว่าการอำเภอขลุงที่อยู่สุดปลายคลองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑๑๘
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีชิ้นส่วนจารึกอีกหลายชิ้นที่พบกระจัดกระจายเหลืออยู่ที่กองพลนาวิกโยธิน ในอาคารตึกกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส ค่ายตากสิน จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของที่ทำการมณฑลเทศาภิบาลในช่วงรอยต่อหลังการรับมอบพื้นที่ซึ่งฝรั่งเศสยึดที่ทำการของรัฐคืนและเดอลาชงกิแยร์เคยกล่าวถึง ยังพบเศษจารึกอีก ๒ ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นอักษรหลังปัลวะ ภาษาสันสกฤตและเขมร อีกชิ้นยังไม่ได้อ่านเป็นหลักฐานเพื่อพิจารณาถึงเนื้อความทั้งสองชิ้นกันแต่อย่างใด ซึ่งเป็นข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์วัดทองทั่ว และกล่าวอีกว่ายังพบประติมากรรมพระนารายณ์ทำจากสำริดขนาดเล็กในแบบสมัยเมืองพระนครไปแล้วก็เห็นว่าถูกนำมาจากบริเวณเพนียดและจัดแสดงไว้ในที่เดียวกัน