ผู้เข้าชม
0
10 กรกฎาคม 2567

กลุ่มโบราณสถานวัดสมภารร้างริมคลองสระบาป

- วัดสมภาร (ร้าง) เป็นเนินดินสูงประมาณ ๒ เมตรที่ถูกไถทิ้งไปแล้วและกลายมาเป็นบึงน้ำ ตั้งอยู่ใกล้กับริมคลองสระบาปที่ไหลขนานกับแนวคลองนารายณ์และห่างจากวัดเพนียด (ร้าง) ทางตะวันออกเฉียงใต้ราว ๖๐๐ เมตร และห่างจากตัวบารายเพนียดราว ๑ กิโลเมตร กล่าวว่าหลักฐานทางโบราณคดีส่วนหนึ่งนำไปเก็บไว้ที่วัดสระบาป ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน เป็นจำพวกแผ่นหินทรายขนาดใหญ่ บ้างชิ้นน่าจะเป็นชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมและจารึกชิ้นที่เป็นรูปเหลี่ยมมีช่องด้านในคล้ายฐานรองเทวรูป แต่นำมาใช้จารึก เรียกว่าจารึกวัดไชยชุมพลหรือวัดสระบาปนั่นเอง 

อีกชิ้นหนึ่งพบที่วัดทองทั่ว เป็นชิ้นเล็กกว่า แต่การวิเคราะห์เนื้อหา ยอร์ช เซเดส์ ซึ่งขณะนั้นรับราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ใหญ่ประจำหอสมุดวชิรญาณระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๑-๒๔๗๒ เสนอบทความ ‘การขยายตัวของกัมพูชาไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ในคริสต์ศตวรรษที่ ๗ จากจารึกที่พบใหม่ที่จันทบูร’ ในวารสาร Bulletin de l'Ecole française d’Extrême-Orient. พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยจารึกสำคัญพบโดย le Frère Hilaire บาทหลวงผู้เป็นอาจารย์จากวิทยาลัยอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ พบชิ้นเล็กที่วัดทองทั่ว เมื่อราวเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๒ และ ‘พระวิภาชวิทยาสิทธิ’ พบจารึกชิ้นใหญ่ที่พบที่วัดสระบาปหรือในชื่อเดิมคือวัดไชยชุมพล

เมื่อ ยอร์ช เซเดส์ อ่านจึงสรุปว่า ชิ้นส่วนจารึกวัดทองทั่วและจารึกจากวัดสระบาปหรือวัดไชยชุมพลเป็นจารึกหลักเดียวกัน จึงเรียกว่า จารึกจันทบุรี หรือ จารึกวัดทองทั่ว-วัดไชยชุมพล ชิ้นเล็กพบที่วัดทองทั่วมี ๘ บรรทัด และชิ้นใหญ่พบที่วัดสระบาปหรือวัดไชยชุมพลที่สันนิษฐานอีกว่าอาจจะนำมาจากวัดสมภาร (ร้าง) ที่อยู่ใกล้เคียง แท่นหินนั้นรูปร่างน่าจะเคยเป็นฐานเทวรูปมาก่อนมีอยู่ ๑๖ บรรทัด เขียนด้วยอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร ประมาณอายุแล้วอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ น่าจะสั่งให้ทำโดย ‘พระเจ้าศรีอี-ศานวรมันที่ ๑’ (พ.ศ. ๑๑๕๘-๑๑๗๘) เนื้อความโดยส่วนใหญ่เป็นรายชื่อของทาสจำนวนมากและโค-กระบือที่ทรงอุทิศถวายไว้ให้แก่เทวสถานนั้น โดยตอนท้ายในบทความของเซเดส์ได้ตั้งประเด็นเรื่องชื่อของทาสเหล่านั้นหลายชื่อเป็นชื่อในภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาเขมร๑๖ 

การวิเคราะห์จารึกนี้แสดงออกถึงแนวคิดแบบอาณานิคมของเซเดส์และนักวิชาการทั้งชาวฝรั่งเศสและอินเดียอย่าง มาจุมดาร์ ที่เสนอมั่นใจว่าเป็นการยึดครองดินแดนนี้ (จันทบุรี) โดยกษัตริย์กัมพูชาตั้งแต่เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ยังยอมรับว่าประชากรพื้นฐานในระดับล่างเป็นเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกันไป ดังปรากฏรายชื่อของผู้รับใช้ที่วิหารไม่ใช่ชื่อชาวเขมรอย่างแน่นอน๑๗ 

ชื่อกษัตริย์ที่ปรากฏในประโยค ‘ศิลาที่สกัดด้วยเหล็กที่พระเจ้าศรีอีศานวรมัน ได้พระราชทานไว้’ โดย ‘พระเจ้าอีศานวรมัน' ครองราชย์ในช่วง พ.ศ. ๑๑๕๘-๑๑๗๘ ทรงเป็นโอรสของ ‘มเหนทรวรมัน’ หรือ ‘จิตรเสน’ ทั้งสองพระองค์เป็นกษัตริย์แห่ง ‘เจนละ’ โดยมีร่องรอยของจารึก ‘จิตรเสน’ ในแถบปากน้ำมูล โขงเจียม ร้อยเอ็ดในกลุ่มนครจำปาศรี และแถบเทือกเขาพนมดงเร็ก มาจนถึงกลุ่มปราสาทเขาน้อยที่สระแก้วและวัฒนานครกว่า ๑๕ หลัก จนถึงเพนียดที่จันทบุรี

ภาพสำเนาจารึกจันทบุรี’ หรือ ‘จารึกวัดทองทั่ว-วัดไชยชุมพล’ ชิ้นเล็กพบที่วัดทองทั่วมี ๘ บรรทัด

และชิ้นใหญ่พบที่วัดสระบาปหรือวัดไชยชุม 


 

พระเจ้าอีสานวรมันครองราชย์ที่ ‘อีสานปุระ’ ซึ่งอยู่บริเวณที่มี ‘ปราสาทสมโบร์ไพรกุก’ ในจังหวัดกำปงธมของกัมพูชาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีกลุ่มปราสาทอยู่ ๓ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า ๒,๕๐๐ ไร่ หรือราว ๔ ตารางกิโลเมตร ถือว่าเป็นเมืองใหญ่โตแห่งหนึ่งในยุคแรกเริ่มนครรัฐในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้