คูเมืองเชียงรายจะอยู่ด้านนอก รอบๆ กำแพงเมืองเชียงราย สันนิษฐานว่า น่าจะถูกสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๐๕ สมัยพ่อขุนมังรายมหาราช มาสถาปนาเมืองเชียงราย ซึ่งเป็นเมืองเอก เป็นเมืองแรกที่สร้าง
สภาพภูมิวัฒนธรรมคูเมืองเชียงรายนั้น ทางทิศเหนือใช้แม่น้ำกกและแม่น้ำกกน้อยเป็นปราการธรรมชาติ ขณะที่ด้านอื่นๆ ที่เหลือ มีการผันน้ำกกเข้ามาทางสนามกอล์ฟแม่กก ไหลอ้อมดอยทอง ผ่านสะพานประตูเชียงใหม่ เลียบถนนบรรพปราการในปัจจุบันไปทางตะวันออก ก่อนไปบรรจบกับแม่น้ำกกสายเก่าที่ชุมชนเกาะทอง แล้วไหลลงแม่น้ำกกบริเวณสนามกีฬากลาง
ในช่วงยุคทศวรรษที่ ๒๔๕๐ ฝ่ายราชการและนายแพทย์วิลเลียม เอ บริกส์ มิชชันนารี ร่วมกันจัดผังเมืองเชียงรายใหม่ โดยการวางถนนให้มีลักษณะตัดกันคล้ายตารางหมากรุกตามแบบเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา ในการนี้ได้มีการถมคูเมืองและรื้อกำแพงเมืองลงเพื่อป้องกันน้ำในคูเมืองมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันเราจึงไม่เห็นร่องรอยของคูเมืองและกำแพงเมืองเชียงราย
เพราะฉะนั้นอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ จึงเป็นผลพวงการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงรายบริเวณรอบลำน้ำต่างๆ ส่งผลให้ทางน้ำแคบลง และทำให้พื้นที่รองรับน้ำลดลง มาตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา แต่จริงๆ แล้วอุทกภัยเกิดขึ้นไปเมื่อ ๓ ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง โดยย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่เชียงราย ปัญหาคือน้ำท่วมครั้งนั้นน้ำไม่ได้ล้นมาจากลำน้ำกก แต่มาจากลำน้ำกอน โดยหนึ่งในปัจจัยคือ มีโรงแรมมาสร้างในที่ดินริมตลิ่งของ ๒ ฝั่งของลำน้ำกอน ทำให้แม่น้ำแคบลงและรองรับปริมาณน้ำไม่ได้เท่าเดิม น้ำจึงเอ่อล้นเข้าท่วมตัวเมือง บทเรียนจากครั้งนั้นทำให้เชียงรายสร้างคลองผันน้ำกก-กอน เพื่อระบายน้ำไม่ให้ท่วมเขตตัวเมือง หรือเขตเศรษฐกิจ
สำหรับน้ำท่วมครั้งนี้ ปี พ.ศ. ๒๕๖๗ เนื่องจาก ๒ ปัจจัยคือ มวลน้ำขนาดใหญ่ไหลจากประเทศเมียนมาไหลทะลักเข้ามาที่เชียงราย พอผ่านลำน้ำกก ซึ่งแต่เดิมรอบๆ ลำน้ำเป็นเรือกสวนไร่นา และเป็นพื้นที่รองรับน้ำ แต่ถูกประชาชนและรัฐเข้าไปใช้ประโยชน์มากขึ้น มีการถมที่สร้างสถานที่พักผ่อน โรงแรม ศูนย์ราชการ และอื่นๆ ส่งผลให้ลำน้ำแคบลงมาก
และอีกปัจจัยคือการขยายเมือง การสร้างสนามบิน ถนนบายพาส หรือการสร้างบ้านจัดสรรต่างๆ ปัญหาที่เจอบ่อยๆ คือน้ำระบายไม่ทัน เวลาน้ำหลากจากแม่น้ำหรือพื้นที่ป่าที่มาพร้อมกับดินตะกอนหรือโคลน ซึ่งจะไปอุดตันท่อระบายน้ำ ทำให้ระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพจากก่อนหน้านี้ที่เคยรับปริมาณน้ำฝน ๓๐-๔๐ มิลลิลิตร (มล.) ได้สบายๆ ก็ระบายไม่ได้ จึงเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในที่สุด
จากการศึกษาด้านภูมิศาสตร์โบราณคดีและภูมิวัฒนธรรม เมืองโบราณเชียงรายมีระบบการบริหารจัดการน้ำบริเวณลุ่มน้ำแม่กกอย่างดีมากมาตั้งแต่อดีตกาล