ผู้เข้าชม
0
10 กรกฎาคม 2567

ภาพชิ้นส่วนแผ่นหินที่น่าจะเป็นหน้าจั่วหรือทับหลังแบบไพรกเมง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดทองทั่ว (ซ้าย)

และแผ่นหินสลักลวดลายแถบบถาลาบริวัตรเต็มชิ้น แม้จะมีรอยแตกหักเสียหาย เก็บรักษาไว้ที่วัดบนในอำเภอท่าใหม่ (ขวา)


 

‘วัดทองทั่ว’ ตั้งอยู่ไม่ไกลจาก ‘บารายเพนียด’ แต่เฉพาะโบราณสถานที่วัดทองทั่วมีร่องรอยว่าเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งชาวบ้านและทางวัดนำโบราณวัตถุจากวัดเพนียดและพื้นที่โดยรอบไปเก็บรักษาไว้จนกลายเป็นสิ่งของสำคัญหรือศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน เช่น โบราณวัตถุที่เป็นรูปแบบทับหลังบ้าง ประติมากรรมบ้าง ฐานเทวรูปบ้าง โดยเก็บรักษาแผ่นหินสลักลายแบบ ‘ถาลาบริวัตอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และแผ่นหินที่น่าจะเป็น ทับหลังแบบไพรกเมงอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของวัด สำหรับชิ้นที่พบจากเมืองเพนียดชำรุดฝั่งขวาและมีร่องรอยการกลึงขอบให้มีขนาดเล็กลงจนตัดเอาลวดลายด้านบนและล่างบางส่วนหายไป 

นอกจากนี้ยังพบแผ่นหินแกะสลักเก็บรักษาไว้ที่ ‘วัดบน’ ในอำเภอท่าใหม่แบบถาลาบริวัตที่เป็นรูปมกรคายเส้นวงโค้งและมีกรอบรูปคนด้านในถือบางอย่างทั้งสองมือ ส่วนด้านล่างเป็นรูปพวงอุบะห้อย รูปร่างของแผ่นหินเป็นวงโค้งขนาดเล็ก แต่เป็นชิ้นส่วนที่ครบสมบูรณ์เพียงแต่มีรอยแตกหักในส่วนที่ค่อนไปทางซ้าย รูปแบบเดียวกับแผ่นหินจากกลุ่มโบราณสถานเพนียด ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับการแกะสลักลวดลายบนทับหลังที่ถาลาบริวัตในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ซึ่งรูปแบบแผ่นหินเต็มใบนี้ ‘เดอลาชงกิแยร์’ ร่างภาพลายเส้นแบบเต็มชิ้นไว้และน่าจะเป็นชิ้นเดียวกับแผ่นหินเก็บรักษาไว้ที่วัดบน ท่าใหม่ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าอาจจะนำมาจากสถานที่รวบรวมแห่งเดียวกันคือที่วัดกลางในเมืองจันทบุรี และนำมาอีกทอดหนึ่งจากที่เพนียด เชิงเขาสระบาปนั่นเอง โดยชิ้นที่ส่วนชิ้นหักครึ่งขวานั้นลวดลายเด่นชัดสมบูรณ์กว่า และมีในราย-  งานที่เดอ ลาชงกิแยร์พบด้วย จึงน่าจะถูกนำไปเก็บรักษาไว้ในพระนครภายหลัง