ผู้เข้าชม
0
13 พฤศจิกายน 2567

ข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการขุดค้นขุดแต่งและสำรวจครั้งนี้ เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าพื้นที่เทศบาลนครเชียงรายในปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณเชียงรายที่สร้างขึ้นอย่างน้อยตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย 

สำหรับเมืองเก่าเชียงราย หากสืบค้นข้อมูลลงไปในช่วงก่อนประวัติศาสตร์บริเวณจังหวัดเชียงราย ปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยกระจายอยู่ทั่วไปโดยมีการพบร่องรอยคูน้ำและคันดินแสดงถึงการเป็นชุมชนโบราณ และมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีในหลายบริเวณ หลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบ ได้แก่ เครื่องมือหินกะเทาะที่มีอายุราว ๑๕,๐๐๐–๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว บริเวณถ้ำพระ ริมฝั่งแม่น้ำกก ในเขตอําเภอเมืองจังหวัดเชียงราย 
 


คูเมืองเชียงราย สภาพในปัจจุบัน
ที่มา: Facebook-ล้านนาประเทศ

ต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ปี พ.ศ. ๑๘๐๒ พญามังรายได้ ขึ้นครองราชสมบัติที่เมืองหิรัญนครเงินยาง และโปรดให้สร้างเมืองขึ้นโดยย้ายราชธานีจากเมืองหิรัญนครเงินยางมาสู่ราชธานีแห่งใหม่ในบริเวณเวียงชัยนารายณ์ดอยจอมทอง ริมฝั่งแม่น้ำกกโดยก่อปราการโอบเอาดอยจอมทองไว้กลางเมือง และได้ขนานนามเมืองแห่งนี้ว่า เชียงราย 

ภายหลังสมัยของพระเจ้าติโลกราช อาณาจักรล้านนาเริ่มเสื่อมถอยลง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับพระเจ้าบุเรงนองกยอดินนรธากษัตริย์พม่าได้ขยายพระราชอํานาจเข้ามายังดินแดนในแถบนี้ อาณาจักรล้านนาจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าในปี พ.ศ. ๒๑๐๑ ถือเป็นการสิ้นสุดอาณาจักรล้านนา ที่มีอายุถึง ๒๖๒ ปีและสิ้นสุดราชวงศ์มังรายที่สืบเนื่องมา ๒๘๓ ปี

ในปี พ.ศ. ๒๑๒๑ อาณาจักรล้านนาและเมืองเชียงรายตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลานานถึงกว่า ๒๐๐ ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว อาณาจักรล้านนาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและกรุงศรีอยุธยาสลับกันไปมา ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เกิดกบฏเงี้ยวขึ้น พวกเงี้ยวยกกําลังเข้าโจมตีเมืองแพร่ เมืองพะเยา และเมืองเชียงราย แต่รัฐบาลกลางได้ดําเนินการปราบปรามอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้พวกกบฏหมดสิ้นไป และทําให้บรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือต้องยอมรับในอํานาจของรัฐบาลกลางมากขึ้น 

ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์จึงได้มีพระบรมราชโองการยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ ส่งผลให้เชียงรายกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามอย่างสมบูรณ์และขึ้นกับรัฐบาลกลางโดยตรง 

ต่อมารัชกาลที่ ๗ รัฐบาลกลางได้ปรับปรุงระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาค โดยยกเลิกการบริหารแบบมณฑลมาเป็นจังหวัด เมืองเชียงรายจึงอยู่ในจังหวัดเชียงรายมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงราย เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๘

เมืองโบราณเชียงราย มีประตูเมือง ๑๒ ประตู มีระบบระบายน้ำและป้องกันด้วยคูเมืองโบราณเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันมีเหลือให้เห็นอยู่  ๓ แห่ง ๑) บริเวณหน้าโรงเรียนสามัคคี ประตูป่าแดง ผ่านประตูเชียงใหม่ไปถึงประตูผี ๒) บริเวณหน้าโรงเรียนเทศบาล ๑ ศรีเกิด ประตูเจ้าชาย และ ๓) บริเวณข้างกำแพงเมือง ประตูยางเสี้ง ห้าแยกพ่อขุน โดยมีหน้าที่ป้องกันข้าศึกอีกชั้นหนึ่ง โดยไม่ให้ข้าศึกเข้ามาในเมืองได้โดยง่าย