ผู้เข้าชม
0
10 กรกฎาคม 2567

‘อุไรวรรณ รัตนวิระกุล’ ศึกษาแหล่งโบราณคดีกลุ่มเพนียดเพื่อขอรับวิทยานิพนธ์ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร๑๔ โดยบรรยายถึงผลการสำรวจและข้อสันนิษฐานกลุ่มโบราณสถานเพนียด นำมาเรียบเรียงเพิ่มเติมและจัดกลุ่มใหม่ได้ดังนี้คือ

กลุ่มโบราณสถานเพนียดริมคลองนารายณ์

- โบราณสถานเพนียดหรือบาราย ได้รับการขุดแต่งทางโบราณคดีแล้ว พบว่าเป็น ‘สระน้ำยกสูงหรือบาราย’ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๒ สระ วางตัวในแนวเหนือใต้ น่าจะเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นโบราณสถานเด่นชัดเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ของบ้านเมืองที่เชิงเขาสระบาปแห่งนี้ มีการขุดแต่งทางโบราณคดีที่บารายด้านทิศเหนือ ส่วนบารายฝั่งทิศใต้นั้นยังไม่เห็นรูปสัณฐานที่ชัดเจน บารายด้านทิศเหนือ ขอบฝั่งด้านเหนือซึ่งเหลือขอบสูงกว่าด้านอื่นๆ เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่กาไวที่มีตำนานในท้องถิ่นของชาวบ้านโดยรอบ ความสูงแต่ละด้านนั้นไม่อาจประเมินได้ว่าขอบสระนั้นเท่ากันทุกด้านหรือไม่ เพราะมีรายงานว่าก้อนศิลาแลงถูกนำไปใช้สร้างศาสนสถานและท่าเรือทางท่าแฉลบ บารายมีขนาดกว้างราว ๖๐ เมตร ยาวราว ๔๐ เมตร มีมุขยื่นอยู่ทางทิศใต้ด้านนอก ส่วนบันไดทางขึ้นลงสระอยู่ทางด้านในในทิศตะวันตก ขอบด้านในอาจจะทำแบบลดระดับเป็นชั้นๆ ในทางทิศเหนือ ส่วนด้านในเป็นพื้นลานที่ในอดีตอาจจะมีตาน้ำ โดยรอบยังพบอิฐดินเผาเนื้อแกร่งละเอียด อาจจะมีโบราณสถานแบบปราสาทในบริเวณใกล้เคียงมาก่อน การศึกษาทางโบราณคดีเมื่อไม่นานที่ผ่านมาซึ่งยังไม่เสนอรายงานกล่าวโดยรวบรัดว่า พบกระเบื้องกาบกล้วยและเชิงชายและชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม พบโบราณวัตถุที่เป็นภาชนะและเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแบบเคลือบสีน้ำตาลแบบเตาบ้านกรวด เช่น กระปุก ไหเท้าช้าง, เคลือบเขียวแบบราชวงศ์ซ่ง และมีการพบชิ้นส่วนมโหระทึกที่กล่าวกันว่านำมาจากแถบนี้ด้วยและจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัดทองทั่วซึ่งอาจจะได้รับมาจากชาวบ้านในละแวกนี้ก็น่าจะเป็นได้

- เนินโบราณสถานที่วัดเพนียด (ร้าง) เนินโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่สูงกว่า ๓ เมตรจากพื้นที่โดยรอบ ขนาดราว ๒๐x๔๐ เมตร ฐานก่อด้วยอิฐไม่สอปูนและมีแนวกำแพงแก้วทำด้วยศิลาแลงส่วนหนึ่ง ตั้งอยู่ริมคลองนารายณ์ ห่างจากโบราณสถานเพนียดหรือบารายมาทางตะวันออกเฉียงใต้ไม่ไกลนัก โบราณวัตถุที่สันนิษฐานว่าพบในบริเวณนี้ นอกจาก ‘จารึกเพนียด ๑’ ที่กล่าวไปแล้วว่ามีการเก็บรักษาไว้ที่ ‘วัดกลาง’ จากนั้นนำไปรวบรวมไปไว้ยังที่ทำการมณฑลจันทบุรีตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือ ‘จารึกเพนียด ๑’ แล้วเอกสารจากกรมศิลปากรกล่าวว่ายังมี ‘จารึกเพนียดหลักที่ ๕๒’๑๕ ที่นักสำรวจชาวฝรั่งเศสไม่ได้กล่าวถึง เป็นจารึกภาษาขอม อักษรขอมโบราณสันนิษฐานจากรูปแบบอักษรว่าน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เช่นกัน เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดวชิรญาณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน  

บริเวณโดยรอบแถบนี้ น่าจะเป็นสถานที่พบแผ่นหินแกะสลักแบบถาลาบริวัต จำนวน ๒ ชิ้น สลักลวดลายเป็นรูปมกรหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางเป็นรูปครุฑยุดนาคภายในวงโค้ง ซึ่งส่วนด้านบนหายไป อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดทองทั่วชิ้นหนึ่ง และที่นักสำรวจชาวฝรั่งเศสรายงานว่าพบที่วัดกลาง เมืองจันทบุรีและนำไปรวบรวมไว้ยังที่ทำการมณฑลเทศาภิบาลก่อนจะนำไปเก็บรักษาไว้ที่หอวชิรญาณ

 

แผ่นหินแบบถาลาบริวัตรที่อาจจะเป็นหน้าจั่วเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร