ผู้เข้าชม
0
17 กันยายน 2567

แต่เมื่อ ๔๕ ปีที่แล้ว ‘สทิงหม้อ แหล่งเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ' โดย อมรา ขันติสิทธิ์ และศรีอนงค์ ทองรักษาวงศ์ สองนักโบราณคดีได้ลงภาคสนามและบันทึกเรื่องราวของสทิงหม้อไว้ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๒

‘…สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการอพยพมาตั้งชุมชนอยู่ใหม่บริเวณริมทะเลสาบสงขลา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของชุมชนสทิงพระโบราณ ณ บริเวณที่เรียกกันว่าสทิงหม้อในปัจจุบัน

กลุ่มชนที่อพยพมานี้แต่เดิมมีหน้าที่และความชำนาญในการทำภาชนะดินเผาเป็นส่วนใหญ่ จึงได้ใช้วิชาชีพเดิมประกอบกิจการสืบต่อมา จนทำให้ชุมชนสทิงหม้อกลายเป็นชุมชนของนักปั้นหม้อ เป็นแหล่งใหญ่ที่ผลิตภาชนะดินเผาป้อนให้กับชุมชนต่างๆ ที่อยู่ข้างเคียงตลอดคาบสมุทรสทิงพระ

จากหลักฐานทางโบราณคดีได้พบ เตาเผาโบราณ ในบริเวณที่เรียกกันว่า เตาหม้อ บ้านปะโอ ซึ่งอยู่ห่างจากสทิงหม้อไปทางทิศเหนือ ๒ กิโลเมตร โดยมีการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โดย ธรา-พงศ์ ศรีสุชาติ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้พบเตาเผาตั้งอยู่ริมคลองโอ ซึ่งผู้สูงอายุ ในท้องถิ่นเล่าสืบต่อกันมาว่า แต่เดิมคลองนี้เป็นทางสัญจรภายใน มีเรือสัญจรไปออกปากทางทะเลสาบ ซึ่งจะเป็นเรือที่บรรทุกขนส่งพวกภาชนะดินเผาที่ได้จากเตาเผาที่ตั้งอยู่บนลำน้ำนี้ จึงเรียกกันว่า เตาหม้อ (เอาท่าหม้อ) และทางน้ำสายนี้ก็มีสายแยกไปต่อกับทางน้ำของหมู่บ้านสทิงหม้อ ซึ่งยังคงมีการทำภาชนะดินเผาในปัจจุบัน และในอดีต นักปั้นหม้อแห่งชุมชนสทิงหม้อคงจะได้ใช้เส้นทางน้ำนี้ ในการขนส่งสินค้าด้วยเช่นกัน

จากการสอบถามนางพร้อม สังฆะไร ผู้ยังคงรักษาอาชีพปั้นหม้อตามบรรพบุรุษในขณะนั้น ทำให้ทราบว่า ชาวสทิงหม้อต้องอาศัยเรือล่องไปตามทางน้ำนี้ออกสู่ทะเลสาบเพื่อเอาดินบริเวณริมทะเลสาบในบริเวณที่เรียกกันว่า ปากรอ 

หลังจากที่นำดินดิบที่ใช้ในการปั้นเครื่องปั้นดินเผาตลอดจนตัวอย่างภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเผาโบราณที่เตาหม้อและเตาสทิงหม้อปัจจุบันให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านปฐพีวิทยา พิจารณาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อดินดิบ และภาชนะดินเผาประเภทเครื่องดิน (earthenware) ทั้งภาชนะดินเผาโบราณจากการขุดค้นที่สทิงพระ ภาชนะดินเผาจากเตาเผาโบราณที่เตาหม้อ ปะโอ และภาชนะดินเผาจากเตาเผาปัจจุบันที่สทิงหม้อนั้น มีคุณสมบัติแบบเดียวกันทั้งสิ้น 

นั่นคือเป็นภาชนะดินเผาที่ทำจากดินเหนียวที่ปากรอและผสมทรายที่หาได้ทั่วไปในคาบสมุทรสทิงพระ (เป็นทรายที่ต่างจากที่อื่น คือมีเนื้อนุ่มละเอียดและมีไมกาสูง ซึ่งเป็นทรายที่ชุมชนโบราณสทิงพระได้ใช้นำมาผสมในการทำอิฐเพื่อเป็นสิ่งก่อสร้างด้วย) 

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า แหล่งวัตถุดิบโบราณของเตาเผาที่เตาหม้อกับที่สทิงหม้อปัจจุบันมาจากแหล่งเดียวกัน โดยใช้เส้นทางน้ำสายนี้ไปเอาดินที่เป็นวัตถุดิบภายในบริเวณเดียวกันสืบต่อกันมา และอาจกล่าวได้อีกว่า ในสมัยโบราณบริเวณชุมชนที่เป็นแหล่งปั้นหม้อไม่เพียงมีอยู่เฉพาะในหมู่บ้านสทิงหม้อเท่านั้น หากขยายแหล่งผลิตภาชนะดินเผาอยู่ตามเนินบนแนวสันทรายริมทางน้ำที่เป็นทางสัญจรเพื่อสะดวกแก่การคมนาคมขนส่ง ดังที่ได้พบเตาเผาโบราณอยู่ริมคลองโอซึ่งเป็นคลองต่อออกไปสู่ทะเลสาบ นอกจากจะใช้เป็นเส้นทางที่จะไปเอาดินสำหรับนำมาปั้นหม้อจากบริเวณริมทะเลสาบแล้ว ยังเป็นเส้นทางลำเลียงภาชนะดินเผาที่ได้จากเตาเผาที่ตั้งอยู่ริมคลองเหล่านี้ด้วย
 


เนื้อของภาชนะดินเผาที่บ้านสทิงหม้อ ทำจากดินเหนียวที่ปากรอ
และผสมทรายที่หาได้ทั่วไปในคาบสมุทรสทิงพระ