ภาพประติมากรรม Golden Boy ทำจากสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ที่ไทยเพิ่งได้รับคืน
จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The MET) สหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗
' ...เมื่อราวพ.ศ. ๑๘๐๐ พ่อขุนรามคำแหงได้เสวยสิริราชสมบัติกรุงสุโขทัย มีอานุภาพมาก แผ่ราชอาณาเขตกว้างขวาง ดังปรากฏในศิลาจารึกแสดงเขตอาณาจักรสุโขทัยสมัยนั้น ว่าเขตแดนทางทิศเหนือ ตั้งแต่เมืองแพร่เมืองน่าน ตลอดจนถึงริมแม่น้ำโขง ทางทิศตะวันตกตลอดเมืองหงสาวดี ทางทิศใต้ตลอดแหลมมลายู แต่ทางทิศตะวันออกบอกเขตแดนทางแผ่นดินสูงเพียงตอนเหนือ ราวท้องที่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดเลยและหนองคายไปจนถึงเมืองเวียงจันทน์ เวียงคำเป็นที่สุด ไม่ปรากฏชื่อเมืองทางแผ่นดินสูงตอนใต้กับทางแผ่นดินต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรี เช่น เมืองลพบุรี เมืองอโยธยา เมืองปราจีนบุรี เป็นต้น โดยเหตุนี้จึงมีคำสันนิษฐานเกิดขึ้นว่า ดินแดนเหล่านี้เป็นอาณาจักรของขอมซึ่งมีกำลังแข็งแรงกว่าอาณาจักรสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงจึงไม่อาจจะแผ่เดชานุภาพเข้ามา
แต่เท่าที่ได้สังเกตศึกษาทั้งทางด้านศิลปะและตำนาน สงสัยว่าดินแดนเหล่านี้หาได้อยู่ในความปกครองของขอมไม่ หากแต่อยู่ในอำนาจอาณาจักรไทยพวกหนึ่ง ซึ่งมีราชธานีเรียกว่า กรุงอโยธยาเป็นอาณาจักรที่มีมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ และสิ่งสำคัญเป็นหลักฐานของอาณาจักรนี้ ก็คือศิลปกรรมอู่ทอง (หรือลพบุรีตอนต้น) อันมีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกับศิลปกรรมของขอมอยู่มาก จนกระทั่งถูกเข้าใจคลุมๆ ไปว่าเป็นประดิษฐกรรมของพวกขอมเสียเกือบทั้งสิ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณวัตถุจำพวกหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เข้าใจว่าขอมจะไม่ถนัดทำเลย) อาณาจักรอโยธยาคงจะรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ทั้งอำนาจและศิลปศาสตร์ จึงปรากฏในพงศาวดารทางลานนาประเทศว่า พ่อขุนรามคำแหงและพ่อขุนงำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา ขณะยังเยาว์วัยต้องลงมาศึกษาวิชาการ ณ เมืองละโว้ (ลพบุรี) ในแว่นแคว้นนี้ ถึงแม้ประเทศกัมพูชาอันมีพระนครหลวง เป็นราชธานีก็คงตกอยู่ในความปกครองระยะใดระยะหนึ่งในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เพราะตอนปลายพุทธศตวรรษนั้น เมื่ออาณาจักรอโยธยาเปลี่ยนผู้สืบสันตติวงศ์ใหม่เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จึงเกิดขอมแปรพักตร์ขึ้น ถึงกับต้องกรีธาทัพไปกำราบปราบปราม
เวลานี้เรื่องราวของอาณาจักรอโยธยายังมืดมัวอยู่ แต่วัตถุพยานที่ชี้ร่องรอยชวนให้ศึกษาค้นคว้ามีประจักษ์อยู่ คือ พระเศียรพระพุทธรูปสัมฤทธิ์วัดธรรมิกราชขนาดใหญ่ที่เก็บรักษาไว้ในอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน กับพระพุทธตรัยรัตนนายกวัดพนัญเชิง ซึ่งมีมาก่อนสร้างพระนครศรีอยุธยา พระเศียรพระพุทธศิลาขนาดใหญ่ที่วัดเดิม อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งโบราณวัตถุสถานแบบอู่ทองที่มีอยู่ในพระนครหลวงกัมพูชา เช่นที่ปราสาทหินเทพประณม ปราสาทหินนครวัด ตลอดจนศิลาจำหลักบางชิ้นในพิพิธภัณฑสถานกรุงพนมเปญ อันเป็นของเคลื่อนย้ายไปจากกลุ่มปราสาทหินบรรยงก์ เป็นต้น... '
ส่วนในเอกสารข่าวของกระทรวงวัฒนธรรม ที่ส่งให้สื่อมวลชนในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ระบุว่า Golden Boy คือ พระศิวะ ในขณะที่เว็บไซต์ของ The MET เขียนหัวข้อบรรยายถึงประติมากรรมนี้ว่า พระศิวะประทับยืน (?) หรือ Standing Shiva (?) และบอกว่าประติมากรรมนี้มีการแสดงมือแบบมุทรา (mudra) และไม่ได้ถือครองสิ่งสำคัญใดๆ ไว้ แต่ก็สันนิษฐานว่านี่คือ พระศิวะในแบบมานุษยรูปนิยม (Shiva in anthropomorphic form) ซึ่งไม่พบในศิลปะเขมร และไม่ตรงกับหลักประติมานวิทยา (Iconography) ใดๆ จึงมีอีกข้อสันนิษฐานว่านี่อาจไม่ใช่เทพเจ้าแต่เป็นบุคคล และก็อาจเป็นรูปฉลองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ ๖