กรณีล่าสุด ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ นี้ นายแมกซ์ ฮอลเลน ผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) สหรัฐอเมริกา มอบหมายให้นายจอห์น กาย ภัณฑารักษ์แผนกเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้แทนเข้าพบอธิบดีกรมศิลปากร ส่งมอบหนังสือแจ้งขอส่งคืนโบราณวัตถุ จำนวน ๒ รายการ ให้แก่ประเทศไทย
การส่งคืนโบราณวัตถุในครั้งนี้ สืบเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทันตรวจสอบรายการโบราณวัตถุที่มีประวัติการได้มาเกี่ยวข้องกับนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด นายหน้าค้าโบราณวัตถุ ผู้ซึ่งถูกสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้แจ้งดำเนินคดีค้าโบราณวัตถุโดยผิดกฎหมายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒ พบว่า มีโบราณวัตถุประติมากรรมสำริดจากประเทศไทย คือประติมากรรมเทวรูปสำริด ที่รู้จักในชื่อ Golden Boy และยังพบโบราณวัตถุที่มีที่มาเกี่ยวพันกับนางดอรีส วีเนอร์ ซึ่งถูกสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กแจ้งดำเนินคดีค้าโบราณวัตถุโดยผิดกฎหมายเช่นกัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นโบราณวัตถุประติมากรรมสตรี จำนวน ๑ รายการ คณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทร โปลิทันจึงมีมติถอดโบราณวัตถุทั้ง ๒ รายการ ออกจากบัญชีทะเบียนโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ และประสานแจ้งวัตถุประสงค์การส่งคืนแก่ไทยตามข้อตกลงกับสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้
Golden Boy ประติมากรรมสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ที่ไทยเพิ่งได้รับคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The MET) สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เนื่องจากพิสูจน์ยืนยันได้ว่า Golden Boy เป็นของไทย พบที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา จ.บุรีรัมย์ เป็นหนึ่งในโบราณวัตถุที่ไม่พบหลักฐานการซื้อขายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และยังพบว่า Golden Boy เป็นของไทย ดังนั้น The MET จึงตัดสินปลดทะเบียนออกจากพิพิธภัณฑ์ และส่งกลับคืนไทยในที่สุด
ข้อถกเถียงและสันนิษฐานถึงประติมากรรมสัมฤทธิ์ Golden Boy ยังไม่มีจุดสิ้นสุดในตอนนี้
จากข้อมูลในหนังสือ Khmer Gold เขียนโดย Emma C. Bunker กับ Douglas Latchford อดีตพ่อค้าโบราณวัตถุสัญชาติไทย ระบุพิกัดว่าพบ Golden Boy ที่บ้านยาง อ.ละหาน (อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์) อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ รูปแบบเป็นบุคคลสวมเครื่องทรงแบบคนชั้นสูง สูง ๑๒๙ เซนติเมตร มีเทคนิคการสร้างแบบพิเศษคือ หล่อด้วยสัมฤทธิ์และกะไหล่ทอง
เอกสารโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง ๒ ภาคของอาจารย์มานิต วัลลิ-โภดม ได้กล่าวถึงการสำรวจพื้นที่บริเวณแอ่งโคราชที่พบประติมากรรมสัมฤทธิ์ Golden Boy ในบท 'ข้อสันนิษฐานเรื่องตำนานโบราณ' อาจารย์มานิต ได้ยกเอาพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงเล่าไว้ในเรื่อง 'เที่ยวมณฑลเพชรบูรณ์' มาอ้างอิง ที่สำคัญข้อมูลชุดนี้สามารถสะท้อนให้เห็นเป็นพื้นฐานที่สำคัญของโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในแอ่งโคราช โดยเฉพาะข้อสังเกตเรื่องอิทธิพลของขอม ซึ่งดินแดนทางแอ่งโคราชมีโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัวแตก-ต่างออกไป และสามารถนำมาใช้ได้มาถึงปัจจุบันนี้ หลังจากพบหลักฐานใหม่ๆ ที่มาสมทบ
ภาพประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ ทำจากสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ที่ไทยเพิ่งได้รับคืน
จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The MET) สหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗ พร้อมกับ Golden Boy