ผู้เข้าชม
0
17 กันยายน 2567

การสำรวจและศึกษาครั้งนั้นโดยการนำของผู้รู้ในท้องถิ่น ทำให้อาจารย์มานิตและข้าพเจ้าสามารถกำหนดบริเวณสำคัญของชุมชนบ้านเมืองของแผ่นดินบก ที่ตั้งอยู่บริเวณแนวสันทรายและเชิงเขาจากหัวเขาแดง คืออำเภอสิงหนคร ผ่านอำเภอสทิงพระไปจนถึงอำเภอระโนด ที่แต่เดิมก็คือเกาะหินปะการังก่อนที่แผ่นดินซึ่งงอกขึ้นจากอำเภอระโนด อำเภอหัวไทร ไปอำเภอปากพนังจะปิดผืนน้ำทะเล ทำให้เกิดลากูนขึ้น

พื้นที่สำคัญของแผ่นดินบกบริเวณแรกอยู่ในเขตอำเภอสิงหนคร ตั้งแต่หัวเขาแดงไปจนถึงคลองปะโอในเขตตำบลวัดขนุนและตำบลม่วงงาม บริเวณหัวเขาแดงคือที่ตั้งของเมืองสงขลา (Songkhla) ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นเมืองที่มีคูน้ำ กำแพงเมือง และป้อมปราการบนเขา ปกครองโดยสุลต่านสุลัยมาน พ่อค้าอาหรับ เมืองนี้เป็นเมืองท่าที่มีพ่อค้านานาชาติเข้ามาติดต่อค้าขาย และเป็นเมืองที่เกิดสงครามกับศูนย์กลางอำนาจที่อยุธยา ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจนมาแพ้สงครามในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
 


ย่านเมืองเก่าสงขลาในปัจจุบัน

ภายในบริเวณเมืองมีเขาเตี้ยลูกหนึ่งคือ เขาน้อย เป็นที่ตั้งของพระสถูปวัดเขาน้อย ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา เป็นพระสถูปที่สร้างทับพระสถูปเดิมในสมัยศรีวิชัย คือ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๒ ลงมา พระสถูปนี้บริเวณฐานก่อด้วยอิฐที่ตัดมาจากหินปะการัง 

แหล่งโบราณคดีถัดมาคือบริเวณปากคลองบ้านสทิงหม้อ หรือเดิมอาจเป็นบริเวณชุมชนโบราณที่เรือสินค้าเข้ามาจอด พบเศษภาชนะดินเผาหลายยุคหลายสมัย ณ วัดธรรมโฆษณ์ ตำบลสทิงหม้อ เพราะยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผามาจนปัจจุบัน ในบริเวณนี้มีพระภิกษุในวัดธรรมโฆษณ์เก็บเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรศิลาไว้ ซึ่งท่านเจ้าคุณได้ขอมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมา-วาส เป็นเศียรเทวรูปในพุทธศาสนามหายานที่มีความเก่าไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๒
 


ป้อมหัวเขาแดงคือป้อมปราการบนเขาของเมืองสงขลา (Songkhla)
ในสมัยอยุธยาตอนปลาย