ผู้เข้าชม
0
17 กันยายน 2567

วัดโลการามหรือวัดจะทิ้งหม้อ อยู่อีกด้านของหมู่บ้าน บนพื้นที่สูงที่เป็นเนินทราย มีต้นยางใหญ่ที่แสดงถึงอายุอันยาวนานและเป็นจุดสังเกตหรือแลนด์มาร์คของชุมชนปากคลองจะทิ้งหม้อ เวลาชาวเรือจะเข้ามาที่ท่าเรือก็ต้องหมายตาที่ต้นยางสูงในวัดโลการามเป็นหมาย  

ส่วนโบสถ์นั้นเป็นแบบโบสถ์โถง ซึ่งเป็นที่นิยมมาแต่เดิมในภาคใต้ ส่วนหน้าบันเป็นแบบงานพระราชนิยมในช่วงรัชกาลที่ ๓ หรือรัชกาลอื่นๆ ลงมา หน้าบันเป็นลายต้นไม้กิ่งไม้ และมีเทวดาทรงครุฑที่กึ่งกลาง สวยงามมาก แต่มีการอนุรักษ์บูรณะจนมีสภาพใช้งานได้ดี รวมทั้งหอระฆังที่น่าจะสร้างมาในคราวเดียวกัน ถือว่าเป็นงานช่างชั้นครูแห่งคาบสมุทรสทิงพระทีเดียว…’

การศึกษาทางโบราณคดีในบริเวณพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่เจริญขึ้นเป็นบ้านเมืองตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นต้นมา ซึ่งข้อเขียนหลายชิ้นได้กลายเป็นรากฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะ ในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยในเวลาต่อมา

จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๑ – ๒๕๒๒ พบว่าทางภาคใต้ของประเทศไทยมีแหล่งทำภาชนะดินเผาแหล่งใหญ่อยู่ด้วยเช่นกัน ในบริเวณที่เรียกว่า แหล่งผลิตภาชนะดินเผาเตาบ้านปะโอ ซึ่งตั้งอยู่ในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ไม่ห่างจากแหล่งที่พบเตาเผาโบราณมีชุมชนเล็กๆ ชื่อว่า สทิงหม้อ เป็นหมู่บ้านที่มีการสืบทอดการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณอยู่ด้วย

คาบสมุทรสทิงพระ-แผ่นดินบก ในการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีและภูมิวัฒนธรรมของอาจารย์  ศรีศักร วัลลิโภดม พบว่า บริเวณที่เป็นชุมชนเมืองท่าและท่าจอดเรือที่เก่าที่สุด พบมากในพื้นที่ที่เป็นเขาและเกาะอันเกิดจากการทับถมของปะการัง กลายเป็นแนวสันทรายที่ยาวเกือบ ๗๐ กิโลเมตร จากหัวเขาแดงถึงอำเภอระโนด ซึ่งผู้รู้ทางโบราณคดีและวัฒนธรรมของท้องถิ่นอย่างพระราชศีลสังวร (ช่วง) และคุณเยี่ยมยง ส. สุรกิจบรรหาร เรียกว่า แผ่นดินบก

‘…การสำรวจครั้งนั้น อาจารย์มานิตนำแผนที่โบราณของคาบสมุทรที่ถ่ายเอกสารลงบนม้วนกระดาษไขจากหอสมุดวชิรญาณไปสืบค้นในพื้นที่ ขณะที่ข้าพเจ้าเตรียมตัวศึกษาร่องรอยแหล่งโบราณคดีจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ และแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐

แลเห็นร่องรอยการตั้งถิ่นฐานตามแนวสันทรายที่เป็นชุมชนบ้านเมือง จากบริเวณที่มีสระน้ำหรือตระพัง บริเวณที่มีร่องรอยของคูน้ำและคันดิน รวมทั้งร่องรอยของพื้นที่ทำนาจากบริเวณที่ลุ่มต่ำระหว่างแนวสันทราย

แผนที่นี้ท่านเจ้าคุณมองออกว่าเป็นแผนที่การสร้างวัดและกัลปนาที่ดินให้กับวัดและชุมชนที่มีชื่อระบุอยู่ในแผนที่ โดยเฉพาะบรรดาสระน้ำขนาดใหญ่ที่คนท้องถิ่นเรียกว่า พัง หรือตระพัง ที่ปรากฏในแนวสันทรายเป็นระยะๆ ไปนั้น ทำให้ข้าพเจ้าตีความได้ว่า เป็นแหล่งน้ำจืดเพื่อการอุปโภคบริโภคร่วมกันของคนในแต่ละชุมชน โดยเฉพาะชื่อวัดที่อยู่ในแผนที่ก็คือชื่อของชุมชนบ้านและเมือง
 


แนวสันทรายจากหัวเขาแดงถึงอำเภอระโนด เรียก 'แผ่นดินบก'