ภาพเก่าการสำรวจของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ซึ่งตีพิมพ์ในเอกสารและหนังสือ โดยเฉพาะภาพถ่ายโบราณสถานและโบราณวัตถุที่กลายมาเป็นหลักฐานยืนยันถึงการทวงโบราณวัตถุสำคัญในแอ่งโคราชภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ถูกลักลอบขโมยขนย้ายออกจากประเทศไทยกลับคืนมา อย่างเช่นกรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง เป็นโบราณวัตถุที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของไทย ที่เชื่อว่าถูกโจรกรรมไปเมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๐๓ ในช่วงสงครามเวียดนาม และถูกนำไปจัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะชิคาโก ในรัฐอิลลินอย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งเมื่อแรกสร้างเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย คือนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด ส่วนทับหลังหมายถึงแผ่นหินที่วางเป็นคานอยู่เหนือประตูทางเข้า ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่กล่าวถึงนี้เคยอยู่เหนือประตูทิศตะวันออกของมุขหน้ามณฑปปราสาทประธาน แกะสลักจากหินทราย เดิมคงมีขนาดสูงประมาณ ๗๕ เซนติเมตร ยาวราว ๒๔๐ เซนติเมตร
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้งเป็นประติมากรรมแสดงเรื่องราวสืบเนื่องมาจากบนหน้าบัน (หน้าจั่วด้านบน) ซึ่งสลักภาพพระศิวนาฏราช หรือพระศิวะทรงฟ้อนรำอันเป็นทั้งการกำหนดจังหวะเคลื่อนไหว และยังเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายล้างจักรวาลเดิมให้จบสิ้นลง
ภาพฐานประติมากรรม ที่พบบริเวณปราสาทพนมรุ้ง จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
ส่วนภาพสลักบนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่อยู่ด้านล่างคือปกรณัมว่าด้วยการกำเนิดจักรวาลใหม่ตามคติศาสนาฮินดู กล่าวถึงขณะเมื่อพระนารายณ์บรรทมหลับอยู่เหนือพญาอนันตนาคราชกลางเกษียรสมุทร หรือทะเลนํ้านม ระหว่างนั้นเองบังเกิดดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี (สะดือ) ของพระองค์ ภายในดอกบัวคือพระพรหม ผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งในจักรวาลขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง
หลักฐานสำคัญที่ใช้ยืนยันความเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมชิ้นนี้ของประเทศไทย คือภาพถ่ายทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ขณะเมื่อยังตกหล่นอยู่กับพื้นหลังจากตัวปราสาทพังทลายลง ตีพิมพ์ในรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค ๒ พ.ศ. ๒๕๐๓–๒๕๐๔
การสำรวจโบราณสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคณะสำรวจจากกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ในภาพเป็นทีมงานที่ต้องขึ้นช้างเพื่อขึ้นไปบนเขาพนมรุ้ง โดยมีอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ร่วมทางสำรวจและถ่ายภาพ ที่นำมาซึ่งภาพถ่ายสำคัญภาพหนึ่งที่ยืนยันการมีอยู่ของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่หล่นอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงกับประตูปราสาทประธานตั้งแต่ในครั้งนั้น
ภาพทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง ขณะตกหล่นอยู่กับพื้นหลังจากตัวปราสาทพังทลายลง
ตีพิมพ์ในรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค ๒
พ.ศ. ๒๕๐๓–๒๕๐๔ จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม