พร้อมกับความรุ่งเรืองของตลาดปากคลองสทิ้งหม้อที่มีทั้งเรือนค้าขายขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ต่อเป็นแถวๆ อยู่หลายถนนซึ่งเชื่อมต่อถึงกันหมด พร้อมทั้งบ้านขนาดใหญ่แบบพ่อค้าคหบดี ที่เป็นเรือนหลังคาปั้นหยาก็พบเห็นอยู่หลายหลัง แต่ปัจจุบันกลายเป็นบ้านเรือนร้างเงียบเหงาจนน่าใจหาย
คนปากคลองจะทิ้งหม้อยังเป็นเจ้าของเรือรับส่งหม้อไปขายต่างอำเภอในทะเลสาบสงขลาและรับขนไม้ฟืนกลับมาเผาหม้อ มีทำสวนไม่มากนัก แต่เกือบครึ่งของชาวบ้านในหมู่บ้านนี้และรอบๆ ปั้นหม้อขาย ภาชนะที่ปั้นเป็นแบบไม่เคลือบ แต่คุณภาพเนื้อดินแกร่งกว่าเตาแถบภาคกลางอยู่มาก ที่กล่าวกันว่าปั้นมาแต่ดั้งเดิมมีอยู่ ๗ อย่าง คือ เผล้ง หรือหม้อใส่น้ำขนาดใหญ่ หม้อสำหรับหุงข้าวต้มแกง หวด อ่าง เตาหุงข้าว ครกตำน้ำพริก กระทะ ลวดลายที่ใช้ไม้ตีลาย เช่น ลายก้านคู่ ลายก้านแย่ง ลายคิ้วนาง ลายดอกพิกุล เป็นต้น
ไม้ตีลาย ลายก้านคู่ ลายก้านแย่ง ลายคิ้วนาง และลายดอกพิกุล
แม้ว่าจะเคยมีเตาเผาภาชนะขนาดใหญ่หลายแห่ง แต่การเดินทางไปนำดินเหนียวจากปากรอมาใช้ทำขึ้นรูปทำภาชนะ ซึ่งปัจจุบันถูกสงวนไว้สำหรับชาวบ้านในพื้นที่ก็เป็นปัญหาหนึ่ง อีกปัญหาหนึ่งคือไม่มีคนทำงานปั้นภาชนะต่างๆ อีกต่อไป จนอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่ต่อเนื่องมานับร้อยปีก็ถึงคราวสิ้นสุดลงเมื่อราวๆ สิบกว่าปีที่ผ่านมา เหลือไว้เพียงแม่เฒ่าบางท่านที่พอจะสาธิตวิธีการตีหม้อโดยใช้หินดุหรือดินเผารองด้านในและใช้ไม้สำหรับตีแบบแผ่นเรียบและแบบมีลวดลายสาธิตวิธีการให้ดู
บริเวณเกือบกึ่งกลางหมู่บ้านมีศาลาทวดเพื่อใช้ทำพิธีกรรม โดยมีบุคคลในตำนานที่เป็นบรรพบุรุษและนับถือกัน ๓ ท่านคือ ‘พ่อทวดพะคะวัน แม่คำแก้ว พ่อตาโหร’
แม่เฒ่าสาธิตวิธีการตีหม้อโดยใช้หินดุหรือดินเผารองด้านในและใช้ไม้สำหรับตี