ภาพปราสาทหินพิมาย ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๖ จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
ในแอ่งโคราช ดูเหมือนประชาชนจะหนาแน่นอยู่ในที่ลุ่มต่ำก่อน แล้วค่อยๆ เคลื่อนย้ายไปอยู่บนที่สูงในภายหลัง อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในขณะนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีผู้คนตั้งหลักแหล่งชุมชนหมู่บ้านขึ้น ตามบริเวณที่ราบลุ่มต่างๆ ในแอ่งโคราช ไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีความหนาแน่น และครอบคลุมบริเวณไม่เท่ากัน และมีความแตกต่างกันในด้านวัฒนธรรม ซึ่งแลเห็นได้จากบรรดาภาชนะดินเผาที่ใช้ในการประดับแหล่งฝังศพ กลุ่มชนเหล่านี้ ได้แก่
(๑) กลุ่มโนนชัย ในเขตจังหวัดขอนแก่น
(๒) กลุ่มทุ่งกุลาร้องไห้ หรือร้อยเอ็ด ในเขตจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ
(๓) กลุ่มทุ่งสัมฤทธิ์ในเขตจังหวัดนครราชสีมา
เพราะฉะนั้นการบุกเบิกสำรวจและขุดแต่งโบราณสถานในแอ่งโคราชและพิมาย นับได้ว่าเป็นการปักธงและวางรากฐานองค์ความรู้เกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ และจารึกต่างๆ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและระเบียบวิธีการเก็บข้อมูลการวิจัยและตีความตามการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดียุคใหม่
คุณูปการที่สำคัญของหนังสือในแบบฉบับที่ตีพิมพ์ตามเอกสารโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรมศิลปากร โดยนายมานิต วัลลิโภดม หัวหน้าคณะสำรวจและขุดแต่งฯ ทั้งภาค ๑ และภาค ๒ คือโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๒ กับโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๔