ผู้เข้าชม
0
25 พฤศจิกายน 2565

แต่เมื่อได้ข้อสรุปจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยพินิจ (ปั้น สุขุม) ซึ่งเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชและคณะรวม ๒๓ ท่าน เดินทางไปรับมอบที่อุตตรประเทศในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน คณะเดินทางกลับมาขึ้นฝั่งที่เมืองตรังมีการแห่เฉลิมฉลองทั่วคาบสมุทร แล้วเดินทางต่อมาประดิษฐานที่พระสมุทรเจดีย์ ปากน้ำเป็นการชั่วคราว จากนั้นจึงแห่พระบรมสารีริกธาตุพร้อมด้วยอัญมณีบางส่วนถูกประดิษฐานในเจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ (เพ็ญนภา หงษ์ทอง. ตามรอยพิสูจน์พระบรมสารีริกธาตุ จากกบิลพัสดุ์สู่บรมบรรพต. กรุงเทพธุรกิจ https://www.scribd.com/doc/155287508/ตามรอยพิสูจน-พระบรมสารีริกธาตุ-จากกบิลพัสดุ-สู-บรมบรรพต)

จากเงื่อนไขการถวายที่จะต้องแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ชาวพุทธในพม่าและลังกาด้วย จึงมีการแบ่งพระบรมธาตุที่เป็นกระดูกและเถ้าจากกรุงเทพฯไปยังมัณฑะเลย์และย่างกุ้งในพม่า รวมทั้งอนุราธปุระ แคนดี้ และโคลอมโบในศรีลังกา ส่วนหีบหินทรายขนาดใหญ่และโกศภาชนะทั้ง ๕ ใบ ถูกนำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่กัลกัตตา  ส่วนอัญมณีและแผ่นทอง ‘เปบเป’ ได้รับอนุญาตให้เก็บรักษาและตกอยู่กับครอบครัวรุ่นต่อมาในอังกฤษ จนปัจจุบันนี้มีการเขียนเป็นนิทรรศการ จัดทำสารคดีทางช่องเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค [Bones of the Buddha] และถูกนำไปจัดแสดงยังพิพิธภัณฑ์สำคัญๆ หลายแห่ง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะนครนิวยอร์ค [MET] และมีโครงการจะนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย [Asian Civilizations Museum] ที่สิงคโปร์ในอีก ๒ ปีหน้า (http://www.piprahwa.com/home)

ปิปราห์วาสถูปจากการขุดค้นทางโบราณคดี

การขุดค้นทางโบราณคดีที่พระสถูปปิปราห์วา เป็นหลักฐานยืนยันการมีตัวตนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีสำคัญในยุคอาณานิคม  ต่อมาในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๖ มีการทำงานศึกษาทางโบราณคดีที่สถูปปิปราห์วาอีกครั้งโดยนักโบราณคดีชาวอินเดีย เค.เอ็ม. ศรีวาสตวะ [K.M. Srivastava] ได้ขุดค้นสถูปปิปราห์วาและกันวาเรีย [Piprahwa and Ganwaria] ที่เป็นชุมชนเมืองห่างจากกันราว ๑ กิโลเมตร ซึ่งมีรูปแบบคล้ายคลึงกันในทุกแห่งที่มีการสร้างศาสนสถานโดยมีชุมชนอยู่ห่างออกไปในระยะพอประมาณเพื่อไม่ให้รบกวนต่อกัน

การขุดค้นที่สถูปปิปราห์วาต่อจากระดับที่เปปเปเคยค้นพบหีบหินขนาดใหญ่ในระดับลึกลงไปอีกราว ๑ เมตร ก็พบห้องกรุขนาดเล็ก ๒ ห้อง พบผอบหินสบู่ห้องละ ๑ ใบ ซึ่งมีรูปแบบเดียวกันกับการขุดค้นโดยเปบเป ผอบทั้งสองใบบรรจุชิ้นส่วนกระดูกที่ถูกเผามาก่อนแตกหักเพราะรับน้ำหนักมาก และสันนิษฐานว่าชั้นดินที่พบผอบนี้ร่วมสมัยกับชั้นดินที่พบเศษภาชนะดินเผาแบบสีดำขัดมันทางเหนือยุคแรก [Northern Black Polished Ware-NBPW] อายุราว ๔-๕ B.C. ซึ่งเป็นช่วงเวลาอาจจะใกล้เคียงหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า น่าจะเป็นการก่อพูนดินโดยเหล่าศากยวงศ์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว ๓๘.๙ เมตรและสูง ๐.๙ เมตร และมีการบรรจุผอบที่มีจารึกซึ่งพบในหีบหินซึ่งเปบเปค้นพบในครั้งแรก

ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช คาดว่าพระเจ้าอโศกฯ ทรงนำพระบรมสารีริกธาตุออกมาจากสถูปเดิมเพื่อแจกจ่ายไปยังสถูปแห่งอื่นๆ และปฏิสังขรณ์พระสถูปเก่านี้พร้อมบรรจุพระสารีริกธาตุส่วนหนึ่งกลับเข้าไป และพบว่าสถูปที่ปิปราห์วามีการบูรณะด้วยการเติมดินเหนียวหนา สร้างทับเป็นสองชั้นด้วยอิฐดินเผาจนกลายเป็นสถูปขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ เมตร และสูงราว ๔.๕๕ เมตร