ผู้เข้าชม
0
17 กันยายน 2567

สำหรับในมุมของประวัติศาสตร์ชุมชน นักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า ชาวบ้านสทิงหม้อเป็นผู้คนที่อพยพมาจากชุมชนโบราณสทิงพระ (ภายหลังการล่มสลายชุมชนโบราณสทิงพระ) ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แล้วมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบริมทะเลสาบสงขลา 

กลุ่มชนที่อพยพมามีความชำนาญในการปั้นหม้ออยู่แล้ว เมื่อย้ายบ้านมาอยู่ที่บริเวณนี้ก็ยังคงประกอบอาชีพเดิม จนทำให้ชุมชนสทิงหม้อเป็นชุมชนนักปั้นหม้อส่งขายให้แก่ชุมชนต่างๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบเตาเผาโบราณที่เรียกว่า ‘เตาหม้อ บ้านปะโอ’ บริเวณริมคลองโอ ที่เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่ชาวบ้านใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อไปออกปากทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านใช้เรือขนดินเหนียวมาจากปากรอ บริเวณปากทะเลสาบสงขลามาเป็นวัตถุดิบในการปั้นหม้อ และใช้เรือขนหม้อดินที่ปั้นเสร็จแล้วไปส่งขายแก่ชุมชนอื่นๆ ในเส้นทางเดียวกัน

ปัจจุบันยังมีประเพณีการทําบุญศาลาพ่อทวดภะคะวัน แม่คําแก้ว พ่อขุนโหร หรือชาวบ้านในชุมชน เรียกว่า ‘ทวดเจ้าบ้านสทิงหม้อ’ ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ เป็นประจําทุกปี

‘ปากคลองจะทิ้งหม้อ’ บทความผ่านสายตานักโบราณคดีที่ทำการวิจัยเชิงภูมิวัฒนธรรมถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นร่วมสมัย โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้กวาดภาพกว้างของ ‘คลองจะทิ้งหม้อ หรือสทิงหม้อ’ ซึ่งยาวระยะกว่า ๑๕ กิโลเมตร ว่าเป็นคลองขุดอยู่ในอำเภอสิงหนคร ฝั่งแผ่นดินบกสทิงพระ โดยสันนิษฐานว่าคลองจะทิ้งหม้อน่าจะเคยเป็นคูคลองธรรมชาติมาก่อน ต่อมาคงมีการขุดให้เป็นเส้นตรง น้ำในคลองเป็นน้ำเค็มราว ๑๐ เดือน ส่วนในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระยะฝนชุกจะเป็นน้ำจืด

‘…ปลายคลองเริ่มจากบ้านป่าขวาง ตำบลรำแดง ซึ่งบริเวณนี้มีลำคลองสำคัญในสมัยประวัติศาสตร์ช่วงศรีวิชัยที่ขุดเชื่อมทางฝั่งทะเลนอกหรืออ่าวไทยตัดขวางเข้ามาต่อกับคลองจะทิ้งพระเรียกว่า ‘คลองปะโอ’ ส่วนคลองจะทิ้งพระที่น่าจะเคยเป็นคูคลองธรรมชาติมาก่อนในบริเวณนี้ ต่อมาคงมีการขุดให้เป็นเส้นตรง ไหลลงใต้ขนานกับแนวทะเลสาบสงขลาสู่ปากคลอง ซึ่งเป็นย่านชุมชนตีหม้อ ทำหม้อดินเพื่อใช้ในครัวเรือนมาแต่โบราณ ซึ่งมีอยู่หลายชุมชน ปากคลองทั้งฝั่งคลองจะทิ้งพระ ใช้เพื่อการคมนาคมกับชุมชนภายในได้มากกว่า ๕ ตำบลในปัจจุบัน 

ชุมชนปากคลองจะทิ้งหม้อ เคยเป็นท่าเรือเก่า และเป็นที่พักหรือรอขึ้นเรือเพื่อที่จะเดินทางเข้าเมืองสงขลา เดินทางไประโนด หรือเดินทางไปยังอำเภออื่นๆ นับว่าเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในสงขลา มีเรือจอดเทียบท่าเกือบตลอดทั้งวันอีก และมีเรือสินค้าจากต่างถิ่นเทียบท่าเพื่อนำสินค้ามาขายและซื้อหาสิ่งของกลับไป เช่น อาหารทะเล ของป่า น้ำผึ้งป่า และเครื่องปั้นดินเผา จนกลายเป็นตลาดใหญ่ที่ทิ้งร่อยรอยให้พบเห็นได้จนถึงปัจจุบัน คนในคลองจะทิ้งหม้อและใกล้เคียงต้องใช้เส้นทางคลองสทิ้งหม้อเพื่อเดินทางต่อเรือที่ท่าเรือไปสงขลา ซึ่งมีอยู่หลายลำ 

อาชีพคนปากคลองจะทิ้งหม้อมักจะค้าขาย เป็นร้านขายของชำรายใหญ่ๆ ก็จะนำสินค้าไปขายตามนัดที่อยู่ริมคลองและริมทะเลสาบ หลังปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ รัฐบาลก็เริ่มทำถนนทั่วประเทศ มีการสร้างแพขนานยนต์ให้รถข้ามฟากไปยังเมืองสงขลาได้สะดวก รถโดยสารมากขึ้น เรือโดยสารจากปากคลองจะทิ้งหม้อก็คงค่อยๆ หมดความสำคัญและหายไป
 


‘คลองปะโอ’ คลองสำคัญในสมัยศรีวิชัยที่ขุดเชื่อมทางฝั่งทะเลนอกหรืออ่าวไทย
ตัดขวางเข้ามาต่อกับคลองจะทิ้งพระ