จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ปี พ.ศ. ๒๕๖๗ แบ่งการปกครองออกเป็น ๓๒ อำเภอ ๒๘๙ ตำบล ๓,๗๔๓ หมู่บ้าน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ หรือเมื่อ ๖๕ ปีที่แล้ว ที่หนังสือ 'นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา' ตีพิมพ์ออกมาโดยกรมศิลปากร จังหวัดนครราชสีมา ยังแบ่งเขตการปกครองท้องที่ออกเป็น ๑๔ อำเภอ และอีก ๒ กิ่งอำเภอเพียงเท่านั้น ซึ่งแต่ละอำเภอกินพื้นที่กว้างขวางมากในฐานะประตูสู่ภาคอีสานที่ราบสูงแอ่งโคราช
ภาคอีสานเป็นที่ราบสูงแบบแอ่งแผ่นดินตื้น (Shallow Basin) เรียกกันโดยรวมว่า ที่ราบสูงโคราช (Khorat Plateau) มีรูปร่างคล้ายถ้วยเป็นแอ่งอยู่ตรงกลาง ลาดเอียงจากทางตะวันตกไปทางตะวันออก บริเวณชายขอบเป็นภูเขาสูง พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยหิน มีชั้นหินกรวดมน หินดินดาน และเกลือหิน แทรกอยู่เป็นตอนๆ
จากลักษณะทางธรณีวิทยาและอายุของหิน ทำให้ทราบว่าแผ่นดินอีสานอยู่ในช่วงตอนปลายของมหายุคเมโสโซอิก ที่ราบสูงแห่งนี้เป็นที่ราบสูงขนาดใหญ่ของทวีปเป็นแอ่งที่มีการทับถมของตะกอน บางช่วงได้ยุบจมลง เป็นทะเลตื้นๆ และเมื่อน้ำทะเลระเหย จึงตกตะกอนเป็นชั้นของเกลือหินแทรกอยู่ทั่วทั้งบริเวณที่ราบ
ต่อมาในมหายุคซีโนโซอิก เกิดการบีบตัวของเปลือกโลกทำให้เกิดรอยเลื่อนของเปลือกโลกขึ้นทางด้านตะวันตกและด้านใต้ของภาค เป็นเทือกเขาเพชรบูรณ์ ดงพญาเย็น สันกำแพง และพนมดงรัก ขณะเดียวกันตอนกลางของที่ราบก็เกิดการโค้งตัวขึ้นเป็นสัน จากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเทือกเขาภูพานแบ่งแอ่งที่ราบต่ำตอนกลางของภาคออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่อยู่ตอนเหนือเรียกว่า ‘แอ่งสกลนคร’ ส่วนที่อยู่ทางใต้เรียกว่า ‘แอ่งโคราช’
สำหรับแอ่งโคราช พื้นที่ราบเป็นแอ่งแผ่นดินขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ ๓ ใน ๔ ส่วนของภาคอีสานทั้งหมด ถือว่าเป็นที่ราบกว้างที่สุดของประเทศไทยมีความสูงโดยเฉลี่ย ๑๒๐-๑๗๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ตรงกลางแอ่งเป็นที่ราบลุ่มต่ำ มีแม่น้ำมูล แม่น้ำชี เป็นแม่น้ำสายหลักที่ระบายน้ำออกจากขอบที่ราบของแอ่ง
ที่ราบแอ่งโคราชนี้ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร อำนาจเจริญ ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานีทางด้านตะวันออก ล้อมรอบด้วยเทือกเขาเพชรบูรณ์ ดงพญาเย็น สันกำแพง พนมดงรัก และเทือกเขาภูพาน
อย่างที่กล่าวภาคอีสานตั้งอยู่บนที่ราบสูงที่เราเรียกกันว่า ‘ที่ราบสูงโคราช’ ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะหลายแอ่งและยังมีภูเขาทั้งขนาดใหญ่ขนาดย่อมลูกโดดๆ อีกหลายลูก ตามทฤษฏีแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ (Plate tectonics) ทำให้สันนิษฐานว่าการเกิดทั้งภูเขาและแอ่งกระทะ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก โดยภาคอีสานนั้นอยู่ในเขตแผ่นเปลือกโลกที่เราเรียกกันว่า ‘อินโดจีน’ (Indochina)
ภาพถ่ายทางอากาศเมืองพิมาย จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
ที่ราบสูงโคราช มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคอีสานประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ตร.กม. และครอบคลุมถึงแขวงสะหวันนะเขตและเมืองปากเซ สปป.ลาว ประมาณ ๘๐,๐๐๐ ตร.กม.
แอ่งโคราชมีพื้นที่กว้างขวางกว่าแอ่งสกลนคร มีทั้งบริเวณที่สูง ทั้งทางตอนเหนือ และตอนใต้ โดยเฉพาะทางตอนใต้นั้น เป็นที่ลาดลงจากเทือกเขาพนมดงรัก ส่วนบริเวณตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำชี (ยาว ๔๔๒ กม.) และแม่น้ำมูล (ยาว ๖๗๒ กม.) ไหลผ่านจากทางตะวันตก ไปออกแม่น้ำโขงทางตะวันออก
โดยเฉพาะที่ราบลุ่มของแม่น้ำมูลนั้น มีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก พื้นที่ตั้งแต่เขตจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานีนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่มีแม่น้ำมูลและชีหล่อเลี้ยง เป็นที่ราบกว้างใหญ่ที่มีผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่ง อาศัยมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ทีเดียว อย่างเช่น ในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นต้น
คนทั่วไปแลดูว่าแห้งแล้ง แต่แท้ที่จริงแล้ว พบแหล่งชุมชนโบราณของมนุษย์ที่มีมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยทวารวดี และลพบุรีเป็นจำนวนกว่าร้อยแห่งทีเดียว แสดงว่าเคยเป็นที่อุดมสมบูรณ์ในสมัยนั้น การตั้งหลักแหล่งชุมชนบนที่ราบน้ำท่วมถึงนี้ ดูแตกต่างไปจากบริเวณที่ลุ่มต่ำของแอ่งสกลนคร ซึ่งเพิ่งมีผู้คนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานกันในสมัยหลัง