ภาชนะทำจากหินสบู่ที่ขุดพบในหีบหินขนาดใหญ่ภายใต้สถูปปิปราห์วา กรุงกบิลพัสดุ์ รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย ซึ่งพบจารึก
‘นี่เป็นที่บรรจุพระสรีรธาตุแห่งพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคของเหล่าพี่น้องชายสุกิติตระกูลศากยะ
พร้อมทั้งพี่น้องหญิงพร้อมทั้งบุตรและภรรยา’
อย่างไรก็ตาม มีการถกเถียงเรื่องเป็นพระบรมธาตุทั้งหมดจริงหรือไม่ในเวลาต่อมาและร่ำลือว่าอาจจะมีเพียงพระบรมสารีริกธาตุเพียงส่วนน้อย ส่วนที่เหลือเป็นของเหล่าเจ้าในวงศ์ศากยะ อันเนื่องมาจากข้อความในจารึก
(อ้างจาก ‘พระสถูปแห่งกบิลพัสดุ์และพระบรมสารีริกธาตุ’ โดย Sãi Bản Mường https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=836297520232092&id=100015555556981)
แม้หลักฐานและที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีค่อนข้างตรงกับข้อมูลจากพระไตรปิฎกกล่าวถึงว่า หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระบรมสารีริกธาตุถูกแบ่งออกเป็น ๘ ส่วนไปยังเมืองต่างๆ หนึ่งในจำนวนนั้นถูกแบ่งให้เหล่าเจ้าศากยวงศ์ที่เมืองกบิลพัสดุ์ แต่ก็ยังมีความสงสัยต่อการค้นพบครั้งใหญ่ที่ปิปราห์วาที่บางกระแสถูกเชื่อว่าเป็นเรื่องหลอกลวงในช่วงเวลานั้นเริ่มตั้งราว ค.ศ. ๑๙๐๐ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกันในการประชุมเสนาบดีสยามก่อนหน้านั้นเล็กน้อยว่า อัฐิในภาชนะทั้ง ๕ ใบ ที่เปปเปขุดพบเป็นของพระพุทธองค์ทั้งหมดหรือเฉพาะอัฐิที่อยู่ในผอบใบที่มีอักษรโบราณจารึกอยู่ อันเนื่องมาจากรัฐบาลอินเดียในสมัยอาณานิคมของอังกฤษนั้นได้รับ ‘บันทึกข้อความ’ จาก ‘พระชินวรวงศ์’ คือ ‘พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์’ ในขณะผนวชเป็นพระภิกษุได้เดินทางออกจากศรีลังกาไปยังอินเดียเหนือพร้อมกับคณะสงฆ์ศรีลังกาจากข่าวที่มีการขุดค้นที่ปิปราห์วาเพียง ๑ อาทิตย์ภายหลังเริ่มขุดค้นและพบพระบรมสารีริกธาตุ จึงอยากขอแบ่งมาให้กับคณะสงฆ์ลังกาและถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นการถวายผ่านผู้สำเร็จราชการของอังกฤษ ทางราชสำนักและเสนาบดีสยามประชุมกันอย่างคร่ำเคร่ง เนื่องจากความไม่มั่นใจใน ‘พระชินวรวงศ์’ ส่วนหนึ่ง และการค้นพบที่มีความไม่แน่ใจว่าจะใช้พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวหรือไม่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนคงเป็นคติความเชื่อชาวพุทธในสยามมีความคุ้นเคยว่าพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แตกกระจายนั้นควรจะอยู่ในรูปผลึกแก้วเม็ดเล็กๆ มากกว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกและเถ้า