ผู้เข้าชม
0
3 กรกฎาคม 2567

ภาพอาจารย์มานิต วิลลิโภดมและคณะ ขณะออกสำรวจภาคอีสาน

จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม



โครงการปริทัศน์พระนิพนธ์ ศ.ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้สรุปเนื้อหาถึงพระนิพนธ์แปลไว้ว่า พระนิพนธ์ชิ้นนี้ทรงแปลจากภาษาไทยซึ่งเป็นรายงานของนายมานิต วัลลิโภดม เป็นภาษาอังกฤษ โดยกล่าวถึงรายงานการสำรวจโบราณสถานในเขตจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และชัยภูมิ รวมถึงรายงานการขุดแต่งปราสาทหินพนมวันและปราสาทเมืองแขก โดยมีนางอลิซเบธ ไลออนส์ เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการพิเศษของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผลงานในการเขียนถึงประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ๒ เล่ม คือ ‘ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์’ และ ‘จิตรกรรมไทยจากเรื่องทศชาติ’ แสดงว่ามีความรู้เกี่ยวกับศิลปะในประเทศไทยในระดับที่สูง เป็นผู้ตรวจตราแก้ไขภาษาอังกฤษ

เชิงอรรถ หรือคำอธิบายเพิ่มเติม เป็นข้ออ้างอิงที่แสดงไว้ตอนท้ายในการปริทัศน์ ได้ขยายความถึงความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ของอาจารย์มานิต วัลลิโภดมไว้อย่างละเอียดว่า รายงานการสำรวจโบราณสถานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของนายมานิต วัลลิโภดม ถือว่ามีความสำคัญมากทางวิชาการ ทั้งนี้เพราะหลังจากรายงานการสำรวจของ Étienne Aymonier, Lunet de Lajonquière และ Major Erik Seidenfaden ของฝรั่งเศส ไม่มีการทำรายงานสำรวจโบราณสถานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม ในรายงานชิ้นนี้ของนายมานิต วัลลิโภดม ไม่ได้ระบุว่าก่อนที่ท่านจะทำการสำรวจนั้นท่านได้ข้อมูลพื้นฐานโบราณสถานต่างๆ จากเอกสารชิ้นใด ซึ่งผู้ทำการปริทัศน์ สันนิษฐานน่าจะอาศัยจากประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติที่ลงในราชกิจจานุเบกษา

เนื้อหาในรายงานชิ้นนี้นอกจากการบรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานตามสภาพที่เห็นเมื่อขณะทำงานสำรวจ แต่อย่างไรก็ตามในรายงานชิ้นนี้ยังได้มีการนำเสนอเนื้อหาคำอ่าน-แปลจารึก กรอบคันฉ่องจากปราสาทหินโคกปราสาท หรือบางเอกสารเรียกจารึกบ้านโคกงิ้ว (บร.๗, K.๙๗๓) ซึ่งในรายงานชิ้นนี้ไม่ได้ระบุว่าคำอ่านแปลจารึกหลักนี้เป็นผลงานของใคร แต่พิจารณาจากข้าราชการกรมศิลปากรสมัยนั้น สันนิษฐานว่าเป็นผลงานของนายฉ่ำ ทองคำวรรณ

ในอีกด้านหนึ่งในประโยชน์จากการสำรวจและขุดแต่ง ได้ระบุว่านอกจากการศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชักจูงชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวโบราณสถาน อีกทั้งยังทำให้ผู้คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเศรษฐกิจดีขึ้นและบังเกิดความรักชาติ

การประโยชน์ที่ได้รับมีการกล่าวถึงการท่องเที่ยวนั้น เป็นเพราะความตื่นตัวด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทย เพราะช่วงระยะที่นายมานิต วัลลิโภดม ทำการสำรวจโบราณสถานอยู่ในช่วงที่มีการประกาศตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งวัตถุประสงค์ข้อที่ ๑ ในมาตราที่ ๖ ของพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว พ.ศ. ๒๕๐๒ คือ ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของชาติ และเผยแพร่ประเทศไทยในด้านวัฒนธรรม ศิลปกรรม ประเพณี นาฏศิลป์ การกีฬา และกิจการอย่างอื่น อันจะเป็นการชักจูงหรือเป็นที่สนใจแก่นักท่องเที่ยว โดยมีอนุสาร อ.ส.ท. ซึ่งเป็นนิตยสารท่องเที่ยวขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) (ปัจจุบันเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ออกวางตลาดเป็นปฐมฤกษ์ ในฉบับเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยคำว่าอนุสาร หมายถึงสารฉบับเล็ก มียอดพิมพ์ครั้งแรก ๕๐,๐๐๐ ฉบับ เนื้อหานำเสนอเรื่องราวของแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งในด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต เป็นแหล่งเผยแพร่อีกทางหนึ่ง

เมื่อมองลงไปถึงระบบระเบียบและแบบแผนวิธีคิดของการวิจัยทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในยุคเกือบ ๘ ทศวรรษที่แล้ว ยังเป็นของใหม่เอี่ยม และไม่มีบุคคลหรือสถาบันศึกษาที่เป็นกิจจะลักษณะ มีแต่การเดินตามรอยคิดและวิธีการแบบยูโรเซนตริค (Eurocentric) จากอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นหลัก