ผู้เข้าชม
0
25 พฤศจิกายน 2565

รับพระบรมสารีริกธาตุจากปิปราห์วา อินเดีย

เหตุการณ์สำคัญในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วิลเลียม แคลกตันซ์ เปปเป [William Claxton Peppe] ชาวอังกฤษอาณานิคม อำนวยการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณเนินดินขนาดใหญ่ในพื้นที่ของเขาที่เรียกว่าเบิร์ดปรู [Birdpur] ใน ‘ปิปราห์วะ’  [Piparahawa] ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอบัสติ รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย ซึ่งติดพรมแดนเนปาล เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๙๗ (ราว พ.ศ. ๒๔๔๐) ในช่วงที่เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮมและคณะ พบเสาศิลาจารึกพระเจ้าอโศก ก่อนหน้านั้นราว ๑ ปี ที่ ‘สวนลุมพินี’ ในเนปาลซึ่งแถบนี้มีหลายแห่งจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของกบิลพัสดุ์ไปถึงลุมพินีทางตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอยู่ในเขตเนปาล และต่อเนื่องอีกนับหลายไมล์เข้ามาทางฝั่งอินเดียของอังกฤษ ในทศวรรษนี้จึงมีการขุดค้นทางโบราณคดีแล้วพบซากสถูปกว่า ๕๐ องค์ วิหารอาราม มีอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์ศุงคะ ราชวงศ์กุษาณะและจนถึงสมัยคุปตะ

จารึกอักษรพราหมีที่เสาพระเจ้าอโศกระบุว่า เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ  กระตุ้นให้เปปเปสงสัยเนินดินขนาดใหญ่ในที่ดินของเขาซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนเนปาล นำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งเป็นที่โจษขานครั้งใหญ่ ต่อมาเขารายงานสรุปการขุดค้นในวารสาร Journal of the Royal Asiatic Society, July 1898 ได้พบโครงสร้างหลังคาโดมใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลางราว ๑๓๐ ฟุต ทำด้วยอิฐแดง เมื่อขุดลึกลงไป ๑๘ ฟุต เขาพบแผ่นหินขนาดใหญ่ที่เป็นฝาปิดหีบทำจากหินทรายขนาดใหญ่ ๑ ใบ ในหีบหินทรายนั้นพบภาชนะทำจากหินสบู่ ๕ ชิ้น ประกอบด้วย ผอบหิน ๒ ชิ้น, ตลับหิน ๒ ชิ้น, หม้อทำจากหิน ๑ ชิ้น, และชามแก้วมีฝาเป็นรูปปลาที่จุกจับ ๑ ชิ้น แต่ละใบขนาดความสูงไม่เกิน ๗ นิ้ว ภายในภาชนะเหล่านั้นมี “อัฐิหลายท่อน” แผ่นทองคำทำเป็นรูปดาวและสี่เหลี่ยมสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ไข่มุกหลายขนาดที่ทำเป็นชุด หินกึ่งรัตนชาติที่ทำจากคาร์นีเลียน [Carnelian]และอเมทิสต์ [Amethyst] ทำเป็นกลีบดอกไม้ บุษราคัม [Topaz] โกเมน [Garnet] ปะการัง [Coral] คริสตัล [Crystal] ที่สำคัญคือตามรอบของขอบผอบใบหนึ่ง มีคำจารึกเป็นอักษรพราหมี

วิลเลียม แคลกตันซ์ เปปเป [William Claxton Peppe, ๑๘๕๒-๑๙๓๗]