หนังสือเล่มที่มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อวงการโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานของประเทศไทย นั่นก็คือ 'นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา' นับเป็นจุดเริ่มต้นในการจุดประกายความสนใจการศึกษาทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในแอ่งโคราชและพื้นที่ทั้งหมดของภาคอีสานในประเทศไทยเมื่อเกือบ ๗ ทศวรรษที่แล้ว
เอกสารโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรมศิลปากร โดยนายมานิต วัลลิ-โภดม หัวหน้าคณะสำรวจและขุดแต่งฯ ทั้งภาค ๑ และภาค ๒ คือโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๒ กับโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๔ ถือเป็นฐานข้อมูลสำคัญของนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ รวมถึงขยายออกไปสู่ข้อมูลของการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ยุคบุกเบิกขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลานั้นด้วย
สำหรับเอกสารโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๒ (Plan and report of the survey and excavations of ancient monuments in North-Eastern Thailand ๑๙๕๙) ซึ่งจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม พิมพ์ครั้งแรกโดยกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ และจัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ หรืออีก ๑๙ ปีต่อมา
ต่อมาได้ถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่ชื่อว่า หนังสือ 'นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา' ของนายมานิต วัลลิโภดม พิมพ์ต่อๆ มาในงานพระราชทานเพลิงศพของข้าราชการระดับสูงอีกหลายท่าน โดยองค์การค้าของคุรุสภา ซึ่งให้ความรู้ทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ตำนาน และโบราณคดีของจังหวัดนครราชสีมา
เมื่อค้นข้อมูลถึงมูลเหตุและที่มาของการทำงานสำรวจของโครงการนี้ก็พบว่า เนื่องจากกรมศิลปากรมีความมุ่งหมายที่จะดำเนินการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ส่งนายมานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์เอก เป็นหัวหน้าคณะการทำงาน โดยมีนายจำรัส เกียรติก้อง หัวหน้าแผนกสำรวจ กองโบราณคดี จัดทำแผนผังโบราณสถาน โดยได้ผลที่น่าพึงพอใจจึงปรากฏว่ามีนักทัศนาจรเดินทางไปเยี่ยมชมโบราณสถานบางแห่งที่มีการสำรวจและขุดแต่ง
ต่อมานายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้นำเสนอรายงานชิ้นนี้ต่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และท่านได้ตอบบันทึกว่า “ผมสนใจมาก ดูแล้ว ขอบคุณท่านอธิบดีและเจ้าหน้าที่ทุกคน” อธิบดีกรมศิลปากร จึงดำริต่อว่า จะจัดพิมพ์รายงานชิ้นนี้ ด้วยประโยชน์ ๒ ประการคือ
- ประการแรก เพื่อใช้เป็นแนวทางของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร
- ประการที่สอง เสนอต่อผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้รายงานชิ้นนี้แพร่หลายในหมู่ผู้รู้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ในการนี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ จึงได้ทูลขอแรงหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทำต้นฉบับภาษาอังกฤษ โดยทั้งนี้ได้ขอร้อง นางอลิซเบธ ไลออนส์ (Elizabeth Lyons) ผู้ชำนาญพิเศษของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ช่วยพิจารณาตรวจแก้แล้วนำมาตีพิมพ์
ภาพหนังสือนำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา
โดยนายมานิต วัลลิโภดม