คำว่าอัตวิบาตกรรมทางวัฒนธรรม [Cultural suicide] เป็นคำที่ใช้ในหมู่นักมานุษยวิทยาเมื่อราวห้าสิบกว่าปีมาแล้ว เรียกกิจกรรมของมนุษย์ในสังคม เช่น ปลูกฝิ่น ค้าฝิ่น และยาเสพติดที่มีผลถึงเป็นการทำลายศีลธรรม ความเป็นมนุษย์ และชีวิตวัฒนธรรมของคนในสังคม จนเกิดความพินาศอย่างสิ้นยุคสมัย
สังคมไทยตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ ดังเห็นได้จากการออกกฎหมายยกเลิกการปลูกฝิ่น นำฝิ่นและอุปกรณ์สูบฝิ่นมารวมเผาที่ท้องสนามหลวงอย่างเป็นมหกรรม รวมทั้งทำการปราบปรามเพื่อให้การสูบฝิ่นและการค้าฝิ่นให้หมดไป ซึ่งในเรื่องนี้ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ทรงมีส่วนร่วมด้วยในการกำจัดการปลูกฝิ่นด้วยการเสด็จไปช่วยพัฒนาชนกลุ่มน้อยที่มีมาช่วยในการปลูกฝิ่นบนภูเขาในภาคเหนือ ซึ่งนับว่าเป็นการช่วยทางรัฐบาลและราชการอีกทางหนึ่ง
พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ ๙ ในเรื่องให้คนชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นเป็นความสำเร็จอย่างเยี่ยมยอด เพราะเป็นการทำให้ชนกลุ่มน้อยที่แทบทุกประเทศในเวลานั้นเห็นว่า ‘เป็นผู้บุกรุกเขตแดนและทำความลำบากให้แก่รัฐและผู้คน ซึ่งต้องทำการขับไล่ให้พ้นออกไป’ เลิกปลูกฝิ่น ขายฝิ่นสำเร็จ
รัชกาลที่ ๙ ทรงพัฒนาด้วยโครงการในพระราชดำริ เปลี่ยนชาวเขาให้เลิกปลูกฝิ่นมาเป็นเกษตรกรปลูกพืชเมืองหนาว และกลายเป็นพลเมืองไทย ในทางตรงข้ามทางฝ่ายรัฐบาลไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะหลังจากเลิกฝิ่นแล้วเฮโรอีนก็ระบาดเข้ามาแทนที่ กลับซ้ำร้ายกว่าเก่าเพราะปราบปรามยากกว่า เพราะสังคมเปลี่ยนจากเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองมากกว่า ยาเสพติดเฮโรอีนระบาดไปยังคนอาชีพต่างๆ และคนรุ่นต่างๆ ในสังคม การปราบปรามไม่สำเร็จ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐคอรัปชั่น มีทั้งมีส่วนร่วมในการค้ายาเสพติด หรือไม่ก็ช่วยเหลือผู้ที่ทำความผิดให้พ้นโทษและการจับกุม
ก่อนสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สังคมไทยทั้งในเมืองและชนบทยังอยู่ในสภาพของสังคมเกษตรกรรมชาวนา [Peasant society] ที่คนยังอยู่ติดที่ มีการโยกย้ายถิ่นฐานน้อย ความเป็นครอบครัวและชุมชนยังเป็นแบบเดิมในรูปเศรษฐกิจแบบพอเพียง สมาชิกชุมชนและครอบครัวไม่โยกย้ายถิ่นฐานไปทำงานในที่อื่น โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายคนที่เป็นแรงงานออกไปทำงานในเมืองและในท้องถิ่นอื่นในลักษณะผู้ใช้แรงงานและกรรมกร ส่วนมากมีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่ออกไปทำงานนอกท้องถิ่น ผู้หญิงยังอยู่กับครอบครัวในชุมชน และเด็กก็เติบโตอยู่ภายในท้องถิ่น
จนทั้งการค้ายาเสพติดและการคอรัปชั่นของหน่วยราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนไทย
เฮโรอีนและยาเสพติดเกิดขึ้นมากชนิดในหมู่ชนชั้นกรรมกร เช่น ยาม้าและยาบ้าในหมู่คนขับรถบรรทุก และรถโดยสาร กรรมกรในโรงงาน และในที่สุดก็ลงมาถึงคนรุ่นใหม่ที่เป็นเด็กนักเรียน และเยาวชนซึ่งเติบโตขึ้นในสังคมอุตสาหกรรมยุคโลกาภิวัตน์ ที่โครงสร้างสังคมทั้งในระดับครอบครัวและชุมชนเปลี่ยนไป
ศรีศักร วัลลิโภดม