ผู้เข้าชม
0
24 เมษายน 2564

อาณาบริเวณเมืองเวียงสระ บริเวณวัดคือพื้นที่ด้านนอก ซึ่งมีแนวคูน้ำเข้าไปสู่ส่วนที่เป็นดงไม้หนาทึบคือบริเวณเมืองชั้นใน

มีแนวลำน้ำเก่าของแม่น้ำตาปีตวัดเข้ามาใกล้กับตัวเมืองซึ่งเป็นพชื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมถึง

บ้านเมืองรอบอ่าวบ้านดอน

เมืองเวียงสระคือเมืองท่าภายในบนแม่น้ำตาปี ที่อยู่ห่างฝั่งทะเลอ่าวบ้านดอน แต่เป็นเมืองที่อยู่บนเส้นทางคมนาคมที่สัมพันธ์กับเส้นทางข้ามคาบสมุทร เช่นเดียวกันกับเมืองที่อยู่บนลำน้ำพุมดวงหรือแม่น้ำคีรีรัฐที่อยู่ในบริเวณควนสราญรมย์และเขาศรีวิชัย

ตำแหน่งเมืองดังกล่าวล้วนมีลำน้ำที่เรือเดินทะเลขนาดเล็กตามชายฝั่งเข้ามาถึงได้ ดังเห็นได้จากที่เวียงสระ แต่เมืองไชยาไม่ได้อยู่ลึกเข้ามาตามลำแม่น้ำ นอกจากลำคลองเช่นคลองท่าโพธิ์และคลองท่าปูน ซึ่งมีเรือชายฝั่งทะเลเข้าไปถึงได้ เป็นบ้านเมืองที่ตั้งอยู่บนแนวสันทรายเก่าของอ่าวบ้านดอนตอนบนที่อยู่ใกล้กับทะเล และหาได้อยู่บนเส้นทางข้ามคาบสมุทร หากเป็นบริเวณเมืองที่สัมพันธ์กับบรรดาชุมชนชายทะเลบนแนวสันทรายใกล้ทะเลในเขตตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอละแมและอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ซึ่งบรรดาชุมชนเมืองท่าเหล่านี้มีเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่อยู่เหนืออ่าวบ้านดอนขึ้นไปตามช่องเขา ตั้งแต่อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี  และอำเภอหลังสวน สวี และท่าแซะในเขตจังหวัดชุมพร เส้นทางข้ามคาบสมุทรเหล่านี้อยู่คนละช่วงสมัยเวลากับสมัยทวารวดี-ศรีวิชัยที่อ่าวบ้านดอนทั้งสิ้น และเป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้ามาก่อนการเดินทางจากฝั่งทะเลอันดามันอ้อมแหลมมะละกามายังอ่าวไทย ซึ่งข้าพเจ้าวิเคราะห์ว่าเป็นเส้นทางแต่สมัยสุวรรณภูมิ ราวพุทธศตวรรษที่ ๓ ลงมา จนถึงสมัยฟูนันในพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐

ในขณะที่เส้นทางข้ามคาบสมุทรของอ่าวบ้านดอนอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา อันเป็นสมัยทวารวดี-ศรีวิชัย ที่มีการเดินทางอ้อมแหลมมะละกา ทำให้เกิดรัฐที่เป็นพ่อค้าคนกลางที่เรียกว่า สหพันธรัฐศรีวิชัย และที่อ่าวบ้านดอนเมืองไชยาก็คือรัฐหนึ่งในสหพันธรัฐที่เรียกว่ามัณฑละตามที่กล่าวมาแล้ว เป็นรัฐที่มีเมืองใหญ่และเมืองน้อยอยู่ในบริเวณรอบอ่าวบ้านดอน


ชุมชนเมืองที่อยู่ใกล้กับเมืองโบราณสมัยทวารวดี-ศรีวิชัยบนสันทรายเก่าก็คือ ‘แหลมโพธิ์’ อันเป็นแหล่งท่าจอดเรือและขนถ่ายสินค้าต่ำจากไชยาลงไปทางใต้ที่อยู่บริเวณอ่าวบ้านดอนตอนกลาง ที่มีแม่น้ำใหญ่ ๒ สายมาออกทะเล คือแม่น้ำพุมดวงหรือแม่น้ำคีรีรัฐ กับแม่น้ำหลวงหรือแม่น้ำตาปี ที่ลำคลองพุนพินมีเมืองอยู่ที่เขาศรีวิชัย อันเป็นแหล่งศาสนสถานฮินดู-พุทธ ที่มีอายุแต่สมัยทวารวดีลงมาจนถึงสมัยศรีวิชัย เป็นบริเวณที่เรือสินค้าเข้ามา เป็นแหล่งที่พบลูกปัดและสินค้าที่มาจากเมืองชายทะเลฝั่งอันดามันที่เกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า นับเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรสำคัญที่กล่าวมาแล้ว

เมืองที่เขาศรีวิชัยนี้ดูคล้ายกันกับเมืองที่แหลมโพธิ์ปากคลองพุมเรียง แต่เมืองใหญ่และสำคัญไปอยู่ที่ควนสราญรมย์ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน เป็นแหล่งที่พบศาสนสถานสมัยศรีวิชัย เมื่อขุดแต่งแล้วพบพระพิมพ์ดินเผาและพระพิมพ์ดินดิบมากมายหลายรูปแบบ ที่เป็นการผสมผสานของศิลปะแบบทวารวดีที่นครปฐมและเมืองโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลางกับศิลปะชวา กลายเป็นศิลปะที่เรียกว่า ศรีวิชัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา

ที่ว่าแหล่งชุมชนเมืองที่ควนสราญรมย์เป็นเมืองใหญ่ ก็เพราะมีบริเวณพื้นที่กว้างใหญ่กว่า อันเป็นบริเวณที่ลำน้ำพุนพินมาสบกับลำแม่น้ำตาปี ก่อนจะแยกกันไปลงอ่าวบ้านดอน ลำน้ำพุมดวงหรือลำน้ำคีรีรัฐไหลจากเขาสกผ่านที่สูงมาออกอ่าวบ้านดอน แต่ลำน้ำตาปีไหลมาจากเทือกเขาหลวงนครศรีธรรมราชซึ่งอยู่ทางใต้ ไหลผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำที่เป็นก้นอ่าวบ้านดอน ซึ่งแยกออกเป็นแพรกหลายลำน้ำลงสู่อ่าว บริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่ต่ำ เพิ่งมาดอนขึ้นทีหลัง รวมทั้งตัวเมืองสุราษฎร์ธานีในปัจจุบันด้วย จึงไม่พบร่องรอยของบรรดาชุมชนโบราณตามลำน้ำ จนกระทั่งบริเวณตำบลท่าสะท้อนจึงเริ่มพบแหล่งชุมชนเก่า

จากตำบลท่าสะท้อนผ่านอำเภอบ้านนาสารลงไปถึงอำเภอเวียงสระและพระแสง ซึ่ง ‘เมืองเวียงสระ’ ก็คือเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองท่าภายในซึ่งติดต่อไปยังเมืองนครศรีธรรมราช ถัดจากบริเวณตอนกลางของอ่าวบ้านดอนของแม่น้ำพุนพินและแม่น้ำตาปี เป็นบริเวณตอนใต้ของอ่าวบ้านดอนที่เป็นที่สูงและภูเขา มีลำน้ำสำคัญอยู่ที่แม่น้ำท่าทองในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ เป็นลำน้ำที่ไม่ยาวเหมือนลำน้ำตาปี ยังไม่พบร่องรอยแหล่งโบราณคดีที่พอจะเห็นว่าเป็นเมืองได้ มีโบราณสถานแห่งเดียวที่สำคัญอยู่ที่ถ้ำคูหา ซึ่งเป็นถ้ำวิหารสมัยศรีวิชัย มีการเอาดินเหนียวหรือดินดิบมาตกแต่งเป็นภาพเมืองและวัดที่มีพระสถูปเจดีย์ พระพุทธรูป ประดับไว้ที่ผนังถ้ำ ความโดดเด่นอยู่ที่พระพุทธรูปประทับนั่งบนเก้าอี้แบบพระทวารวดีที่นครปฐม แต่พระพักตร์และรูปแบบทางศิลปกรรมกระเดียดไปทางศิลปะจามเช่นที่ชายฝั่งทะเลเวียดนามตอนกลาง ซึ่งลักษณะดังกล่าวก็เหมือนกับที่พบที่ปราสาทวัดแก้ว เมืองโบราณบนสันทรายที่ไชยา ซึ่งมีอิทธิพลศิลปะสถาปัตยกรรมจามสมัยจาเกี้ยว ที่มีอายุร่วมสมัยกับศรีวิชัย สิ่งดังกล่าวคงสะท้อนให้เห็นว่าบนเส้นทางการค้าทางทะเลของบ้านเมืองรอบอ่าวบ้านดอน มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นพ่อค้านานาชาติ ซึ่งพ่อค้าจามเป็นส่วนหนึ่ง

อาณาบริเวณตอนเหนือของอ่าวบ้านดอนถัดจากอำเภอกาญจนดิษฐ์เป็นอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่พบแหล่งบ้านเมืองและแหล่งโบราณคดีสมัยศรีวิชัย เพราะเป็นที่สูง มีชายทะเลเว้าแหว่งเป็นโขดสูง ซึ่งมีบ้านเมืองเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา แต่ตรงสุดเขตของอ่าวบ้านดอน ชายฝั่งทะเลหักวกลงใต้ในเขตอำเภอขนอมที่เป็นจุดเริ่มต้นของชายฝั่งทะเลที่เป็นแนวตรง ขนานกับแนวสันทรายที่ทอดยาวผ่านอำเภอสิชล ท่าศาลา เมืองนครศรีธรรมราช ปากพนัง ลงไปจนถึงอำเภอชะอวด ในการศึกษาและสำรวจแหล่งโบราณคดีตามแนวสันทรายที่เริ่มแต่อำเภอขนอม สิชล ท่าศาลา ไปจนถึงนครศรีธรรมราชนั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นของในลัทธิศาสนาฮินดู ที่มีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา โดยมีแหล่งศาสนสถานและศาสนวัตถุที่เป็นพุทธมหายานบ้างเล็กน้อย ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมา