ผู้เข้าชม
0
8 เมษายน 2567

นอกจากนี้บริเวณเขาทำเทียม ซึ่งเป็นเวิ้งเขาที่เคยสวยงามของอาณาบริเวณเมืองอู่ทอง มีการบันทึกว่า หินที่จารึกอักษรแบบหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต คำว่า ‘ปุษยคิริ’ สันนิษฐานว่าได้มาจากแถบเขาทำเทียม คำว่า ปุษยคิริหรือปุษยคีรี ที่หมายถึง ‘เขาดอกไม้’ มีความหมายมากเมื่อพบที่อู่ทอง เพราะไปพ้องกับเขาปุษยคีรีคือมหาวิหารบนยอดเขาแลงกูดี ในเขตชัยปุระ รัฐโอดิชา หรือกลิงคะรัฐโบราณของอินเดีย ที่หลวงจีนเหี้ยนจังหรือพระถังซำจั๋งเดินทางไปเยือนอนุทวีปอินเดียระหว่าง พ.ศ. ๑๑๗๒-๑๑๘๘ โดยสันนิษฐานจากจารึกที่พบจากซากอาคารที่มหาวิหารบนเนินเขาแลงกูดี ‘puṣpa sabhar giriya’ หรือโดยย่อว่า ปุษปคีรี นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าน่าจะเป็นสถานที่บนเขาแลงกูดี

ปุษยคีรี มีความหมายในการเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อการจาริกแสวงบุญทางพุทธศาสนาในยุคสมัยที่หลวงจีนอี้จิงเดินทางไปถึงเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และยังเป็นมหาวิหารสถานศึกษาเก่าแก่ที่รุ่งเรืองตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ จนถึง ๑๖ พร้อมกับนาลันทา วิกรมศิลา โอดันตาปุรี วัลลาภี และตักศิลา เป็นหนึ่งในเครือข่ายมหาวิหารเพื่อการศึกษาระดับสูงทางตะวันออกของอินเดียในบริเวณอ่าวเบงกอลที่ได้รับการอุปถัมภ์ในสมัยราชวงศ์ปาละ

การปรากฏชื่อ ปุษยคีรี ที่มีความหมายเดียวกับ ปุษปคีรี คือ เขาดอกไม้ ที่เมืองอู่ทองนั้น ทำให้เห็นว่ามีการติดต่อสัมพันธ์และมีการรับรู้อย่างดีในเรื่องมหาวิหารเพื่อการศึกษาชั้นสูงบนยอดเขา ที่มีนัยยะไปถึงยุคสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชในพุทธ-ศตวรรษที่ ๓ ที่มีการบุญล้างบาปหลังจากการเข่นฆ่าครั้งมโหฬาร และความมีชื่อเสียงในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการจาริกแสวงบุญของเหล่านักบวชเพื่อแสวงหาวิชาความรู้และสามัญชนผู้จาริกแสวงบุญเพื่อสืบพระศาสนาร่วมสมัยกับยุคทวารวดีและศรีวิชัยในเวลาต่อมา 

เขาศักดิ์สิทธิ์ ‘ปุษยคีรี’ สืบเนื่องมาจนกลายเป็นสถานที่เพื่อการจาริกแสวงบุญของเมืองอู่ทอง ที่ผู้คนจากบ้านเมืองร่วมสมัยอื่นๆ ต่างมีความพยายามเดินทางมาเพื่อการสืบพระศาสนาตามคติที่แพร่มาสู่ดินแดนต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศไทย อาจจะตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ที่ ‘เมืองอู่ทอง’ เจริญสูงสุดจนถึงในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ และหลังจากนั้น

 

ก้อนหินสลักคำว่า ‘ปุษยคิริ’ น่าจะเป็นอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อาจจะมีอายุในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ จากการกำหนดของกรมศิลปากร ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง