ผู้เข้าชม
0
24 สิงหาคม 2565

นอกจากนี้ยังพบว่าทางภาคเหนือที่อำเภอบ่อเกลือในจังหวัดน่านที่บ้านบ่อหลวง หลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่พบเศษเครื่องเคลือบจากแหล่งเตาล้านนา เศษเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัยและเศษเครื่องถ้วยลายครามสมัยราชวงศ์หมิงซึ่งพอจะตีความรวมๆ ได้ว่า ควรจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ และที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ พบมโหระทึกสำริดแบบเฮเกอร์ ๑ ถึง ๒ ใบ อายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๑๐ ซึ่งถือว่าเป็นยุคเหล็กหรือร่วมสมัยกับวัฒนธรรมดองเซินที่มักพบมโหระทึกในชุมชนผู้ผลิตหรืออยู่ในเส้นทางการค้าแบบโบราณทางแผ่นดินภายในและชายฝั่งทะเล

นอกจากบ่อเกลือบ่อหลวงแล้วยังมีบ่อเกลืออีกหลายบ่อกระจายตัวไปทางด้านทิศเหนือตามลำน้ำน่านและลำน้ำสาขา ได้แก่ บ่อเวร บ่อแคะ บ่อหยวก บ่อตอง บ่อกิ๋น บ่อน่าน บ่อเจ้า และบ่อเกล็ด ทั้งนี้ในปัจจุบันปรากฏการทำเกลือเพื่อการบริโภคให้เห็นเพียงบางบ่อเท่านั้น เช่น  บ่อหยวก หรือบ่อเวร เป็นต้น

สำหรับการผลิตเกลือด้วยการต้มในกระทะเหล็กและบ่อที่ใช้ปล้องลำไผ่ขนาดใหญ่มากเป็นตัวกันระหว่างน้ำเค็มกับน้ำจืดนั้น มีความใกล้เคียงกับบ่อเกลือที่ยูนนานและเสฉวนซึ่งมีบันทึกว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีการผลิตเกลือมากกว่าเขตอื่นๆ เป็นสินค้าที่ราชสำนักจีนเก็บภาษีโดยตรงในยุคสมัยราชวงศ์ซ่ง

บ่อเกลือนอกจากที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านแล้ว ยังพบบริเวณอำเภอนครไทยและอำเภอวัดโบถส์ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งน่าจะอยู่ร่วมสมัยกับยุคล้านนาและสุโขทัย

 

ความสำคัญของเกลือทะเล ประวัติศาสตร์โดยย่อ

          สำหรับการผลิตเกลือจากน้ำทะเล มีหลักฐานในช่วงเวลาที่เห็นร่องรอยของอิทธิพลวัฒนธรรมจากการเข้ามาของกลุ่มคนจีนจากการเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงปลายสมัยศรีวิชัยและเข้าสู่ยุคสมัยลพบุรี

ซึ่งเป็นช่วงสมัยราชวงศ์ซ่งเข้าสู่ราชวงศ์หยวนในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ ซึ่งเป็นช่วงที่การค้าทางทะเลอันรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์ซ่ง และมีการเปลี่ยนแปลงเป็นราชวงศ์หยวนที่ชาวมองโกลเข้ามามีอิทธิพลควบคุมในแผ่นดินจีนโดยจักรพรรดิกุบไล่ข่าน สันนิษฐานว่าในครั้งนั้นน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คลื่นของชาวจีนฮั่นเคลื่อนย้ายอพยพเข้ามาสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในแผ่นดินลุ่มน้ำเจ้าพระยาและคาบสมุทรสยาม-มลายู

บริเวณตั้งแต่อำเภอบ้านแหลมและอำเภอเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ทำนาเกลือขนาดใหญ่ที่สุดในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเพราะน้ำทะเลมีความเข้มข้นของเกลือเหมาะสม ผืนแผ่นดินเป็นดินเหลวปนทรายหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเป็นทะเลตม รวมทั้งอุณหภูมิที่ร้อนและมีแสงแดดแรงกล้ายาวนาน องค์ประกอบที่พร้อมและเหมาะสมเช่นนี้ทำให้บริเวณ ‘บ้านแหลม’ ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์และชี้ให้เห็นว่ามีความสำคัะญต่อเศรษฐกิจและการเกิดขึ้นของนครรัฐในแถบลุ่มน้ำแม่กลองและบริเวณเมืองเพชรบุรีไปจนถึง เมืองนครศรีธรรมราช โดยการนำไปขายยังบ้านเมืองภายในและทางเขตคาบสมุทรในช่วงเวลานั้น

บริเวณชะอำที่อยู่ชายฝั่งทะเลก็มีพื้นที่เหมาะสมแก่การทำนาเกลือเช่นกัน ทั้งยังมี ‘มหาสถูป’ ที่ชะอำนี้มีรูปแบบมาตรฐานเดียวกับเจดีย์ที่สร้างกันอยู่ในบริเวณเมืองคูบัวและมีขนาดใหญ่เทียบได้กับเจดีย์สำคัญของเมือง มีการอยู่อาศัยอย่างถาวรตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ร่วมสมัยทวารวดีไปจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗  ซึ่งเป็นยุคปลายสมัยศรีวิชัยที่ต่อเนื่องกับราชวงศ์ซ่ง

บริเวณเมืองท่าที่ชะอำเป็นสถานีการค้าอันเป็นจุดสังเกตของการเดินเรือเลียบชายฝั่งอันมีรูปแบบที่แน่นอนมาแต่ครั้งโบราณ และอยู่ในจุดพักของการเดินทางบกข้ามคาบสมุทรจากเมืองคูบัวผ่านเทือกเขาตะนาวศรีสู่เมืองท่าทางฝั่งอ่าวเบงกอล ชุมชนสมัยทวารวดีที่เชิงเขาเจ้าลายจึงเพิ่มมิติของเครือข่ายสนับสนุนต่อการเป็นเมืองท่าสำคัญของเมืองคูบัวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น