ผู้เข้าชม
0
24 เมษายน 2564

พบร่องรอยของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ท่านพุทธทาสบันทึกไว้ในหนังสือ แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน ท่านได้ถ่ายภาพและรวบรวมโบราณวัตถุหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดีอันเป็นสมัยศรีวิชัยตอนต้นมาจนถึงสมัยศรีวิชัยตอนปลาย

สิ่งที่ให้ความหมายแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างมากก็คือ ในบันทึกที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่าลำคลองท่าโพธิ์ที่ไหลผ่านบริเวณย่านใหม่ของเมืองไชยาที่อยู่สองข้างทางรถไฟนั้น  เมื่อ ๕๐ ปีก่อนเคยเป็นคลองกว้างที่เรือเดินทะเลเข้าไปถึง และตามลำคลองนี้มีการพบชิ้นส่วนเทวรูปพระนารายณ์ถือตะบองและสังข์เหนือสะโพก ซึ่งนำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ในปัจจุบัน

เทวรูปพระนารายณ์ถือสังข์เหนือสะโพกนี้เป็นของเก่าแก่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ ซึ่งเก่าแก่กว่าสมัยทวารวดีและศรีวิชัย

เพราะฉะนั้นจากการเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำลำคลองที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าใด ยกเว้นการตื้นเขินของลำน้ำในปัจจุบัน เมืองโบราณบนสันทรายสมัยทวารวดี-ศรีวิชัยนั้น คือเมืองท่าที่เป็นนครรัฐ ซึ่งมักจะอยู่ห่างจากทะเลเข้ามาภายใน เช่นบรรดาเมืองท่าทั้งหลายในสมัยโบราณ และเรือทะเลที่จะเข้ามาถึงก็คงไม่ใช่สำเภาขนาดใหญ่ หากเป็นบรรดาเรือขนาดเล็กที่เดินทางตามชายฝั่งและสามารถเข้าไปตามลำน้ำใหญ่ถึงบ้านเมืองที่อยู่ภายในที่ราบลุ่มน้ำลำคลองได้  ปัจจุบันมีการพบซากเรือดังกล่าวหลายแห่งทางภาคใต้ เช่นที่คลองท่อมและอ่าวบ้านดอน ที่ข้าพเจ้าได้เห็นมามี ๒ แห่ง คือที่เมืองเวียงสระแห่งหนึ่ง และที่ก้นลากูนในเขตตำบลทุ่ง อำเภอไชยา เป็นเรือขนาดยาว ๑๕ เมตร และกว้าง ๓.๕๐ เมตร ที่มีรูเจาะและใช้เดือยไม้แทนตะปูเพื่อการยึดโยงองค์ประกอบของเรือ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบรรดาเรือเดินทะเลเหล่านี้จะไม่ใช้เหล็กหรือตะปูตอกยึดส่วนประกอบแต่อย่างใด เรือดังกล่าวทำด้วยไม้ตะเคียนและใช้เชือกที่ทำจากใยมะพร้าวเหมือนกับเชือกมะนิลาในการผูกติด เรือที่พบที่ก้นลากูนที่ตำบลทุ่งอยู่ในสภาพดีกว่าที่เวียงสระซึ่งอยู่ในสระน้ำ ที่สำคัญคือเมื่อพบยังมีชิ้นส่วนของเครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ถัง ๒-๓ ชิ้นภายในเรือ เป็นเครื่องยืนยันอายุของเรือในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ อันนับเนื่องในสมัยศรีวิชัยยุครุ่งเรืองที่มีการค้าขายกับจีน

จากการศึกษาทางภูมิวัฒนธรรม เรือลำนี้พบในพื้นที่ไม่ไกลจากฝั่งทะเลซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออก เพราะมีแนวสันทรายขวางกั้น แต่พบในพื้นที่เป็นเวิ้งน้ำเก่าของลากูนที่ปากน้ำออกทะเลไปอยู่ที่ปากคลองพุมเรียง ซึ่งมีแหล่งนำเรือออกขนถ่ายสินค้าอยู่ที่แหลมโพธิ์ และมีชุมชนโบราณอยู่ทางฝั่งเมืองไชยาเก่าตามที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นก็คือหนึ่งในเรือที่เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีทั้งสอง โดยเข้าไปจากทางปากคลองใหญ่พุมเรียง หรืออีกนัยหนึ่งตรงปากลากูนแล้วเข้าไปจนถึงก้นลากูนในเขตตำบลทุ่ง ส่วนเรือลำที่พบที่เวียงสระเหลือให้เห็นเพียงกระดูกงูและชิ้นส่วนอื่นๆ เล็กน้อย แต่ก็ชี้ให้เห็นว่ามีความยาวราว ๑๕ เมตร และมีการเจาะใส่เดือยไม้แทนตะปูเช่นที่พบที่ไชยา ถึงแม้ว่าจะไม่พบเต็มลำ แต่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรือขึ้นล่องตามลำน้ำ จากปากแม่น้ำตาปีเข้ามาเมืองเวียงสระที่อยู่ห่างจากปากแม่น้ำที่อ่าวบ้านดอนราว ๖๒ กิโลเมตร

เมืองเวียงสระนับเป็นเมืองท่าภายในบนลำน้ำตาปี แต่ที่อยู่ห่างไกลจากชายทะเลนั้น เพราะก้นอ่าวบ้านดอนจากปากแม่น้ำตาปีอยู่ลึกกว่าเมืองไชยาที่อยู่ตอนเหนือของอ่าวบ้านดอน ซึ่งบริเวณชายฝั่งทะเลเป็นสันทรายและเนินทราย มีแต่ลำน้ำสายเล็กๆ ไม่เป็นลำน้ำใหญ่ เช่นลำน้ำพุนพินและลำน้ำตาปี ก้นอ่าวของลำน้ำตาปีกินลึกมาจนถึงตำบลบ้านท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน ที่เริ่มแลเห็นร่องรอยของชุมชนริมฝั่งน้ำไปจนเขตอำเภอบ้านนาสาร เวียงสระ พระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช อันเป็นชุมทางของบรรดาลำน้ำที่เป็นต้นแม่น้ำตาปี

เทวรูปพระนารายณ์ถือสังข์เหนือสะโพก อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ 

 

ลำน้ำตาปีจากอำเภอพระแสงที่ไหลลงไปถึงอำเภอฉวาง คนท้องถิ่นเรียกว่า ลำน้ำฉวาง หรือคลองฉวาง เป็นเส้นทางตามลำน้ำที่คนเมืองสุราษฎร์ธานีเดินทางล่องตามลำน้ำไปไหว้พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช นั่นคือเมื่อเดินทางตามแม่น้ำมาถึงอำเภอฉวาง ก็แยกจากแม่น้ำเข้าคลองมินและคลองจันดี ที่มีต้นน้ำอยู่ที่น้ำตกท่าแพของเทือกเขาหลวง แล้วเดินทางจากบ้านคลองจันดีข้ามผ่านช่องเขามาลงลำน้ำที่ไหลมายังอำเภอลานสกา เข้าสู่นครศรีธรรมราช

เส้นทางข้ามช่องเขาหลวงจากคลองจันดีมายังนครศรีธรรมราชนี้ นับเนื่องเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรเก่าแก่และร่วมสมัยกับเส้นทางจากตะกั่วป่าผ่านช่องเขาสกมาลงแม่น้ำพุมดวงหรือแม่น้ำคีรีรัฐมายังชุมชนที่เขาศรีวิชัย เส้นทางข้ามคาบสมุทรเส้นนี้คือสิ่งที่ดร. ควอริทช์ เวลส์ และท่านพุทธทาสภิกขุเชื่อว่าเป็นเส้นทางการค้าที่สนับสนุนความเป็นศูนย์กลางอาณาจักรของศรีวิชัย