ผู้เข้าชม
0
24 สิงหาคม 2565

เกลือในไทย

เกลือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางอุตสาหกรรมพื้นฐานของมนุษย์โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ในยุคเหล็กเป็นต้นมา ตั้งแต่ราวต้นพุทธกาลจนถึงเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ ในพื้นที่แผ่นดินภายในของประเทศไทย ซึ่งได้แก่ การถลุงโลหะธาตุ การทำเกลือ และการรวบรวมของป่าเพื่อการแลกเปลี่ยนในการค้าขายระยะไกลและส่งอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นของบ้านเมืองให้กลายเป็นชุมชนระดับนครหรือระดับรัฐ โดยเฉพาะ ดินแดนในอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีร่องรอยของการผลิตเกลือสินเธาว์ที่ผลิตจากดินเอือดหรือดินขี้ทาที่ขูดเอาจากผิวดินในหน้าร้อน สร้างเตาต้มเกลือแบบง่ายๆ

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมศึกษาทางโบราณคดีในภาคอีสานพบว่า มีเนินดินที่ทำเกลือสมัยโบราณมากมาย พื้นที่ทำกิจกรรมต้มเกลือในสมัยโบราณ มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่คล้ายเนินเขาขนาดย่อมอยู่ในพื้นที่ราบ มีชั้นดินผสมกับเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก การทำเกลือก็เป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง ถือเป็นแอ่งอารยธรรมที่สำคัญในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การทำเกลือบริเวณภาคอีสานทั้ง ๒ แอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร มีโดมเกลือ [Rock salt dome] ที่อยู่ใต้พื้นดินใหญ่เป็นอันดับสามของโลกในโลก การขุดค้นทางโบราณคดีของศาสตราจารย์อิจิ นิตต้า ที่ขุดค้นที่เนินทุ่งผีโพน อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา พบกรรมวิธีการผลิตมีขั้นตอนแต่การเตรียมภาชนะในการต้มเกลือและใส่เกลือ การนำเกลือจากแหล่งธรรมชาติมากรอง มาต้ม กำหนดอายุได้ราว ,๐๐๐ ปีมาแล้ว หรือในช่วงยุคเหล็ก (-)

โดมหินเกลือในอีสานมีลักษณะของหมวดหินมหาสารคาม เป็นชั้นหินที่วางตัวอยู่ในระดับราบหรือเอียงเทเล็กน้อย ประกอบด้วยหินทราย หินโคลน และมีชั้นเกลือหินแทรกอยู่ข้างล่างเป็นแหล่ง ๆ ประกอบด้วย เกลือหิน ๓ ชั้น ในระดับความลึกต่างๆ แต่ในบางบริเวณจะพบเพียง ๒ ชั้นหรือชั้นเดียว จะมีชั้นดินเหนียวคั่นอยู่ระหว่างชั้นเกลือหิน และมีแร่แอนไฮไดรต์ชั้นบางๆแทรกอยู่เล็กน้อย ชั้นเกลือหิน  มีอยู่ด้วยกัน ๓ ชั้น และมีความหนาต่างๆ กัน โดยลึกประมาณ ๒๐๐-๕๐๐ เมตรจากพื้นดิน ยกเว้นบริเวณขอบแอ่งและบางแห่งมีชั้นเกลือหินอยู่ในระดับตื้น คือ ๕๐-๑๐๐ เมตร

นอกจากวิธีการผลิตเกลือจากดินเอือดหรือดินขี้ทา ยังมีการทำเกลือจากการขุดบ่อน้ำเค็ม จากชั้นเกลือที่อยู่ในระดับตื้นมาต้มโดยตรง เป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมอยู่บริเวณบ่อหัวแฮด เกาะกลางลำน้ำสงคราม บ้านท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย

การทำเกลือจากดินขี้ทาในปัจจุบัน ใช้ความสะดวกสบาย โดยนำดินขี้ทามาจากท้องนามากรองและต้มที่บ้าน โดยใช้ถังน้ำมันขนาดใหญ่ วางอยู่บนยกพื้น ใส่ฟางข้าวและดิน เติมน้ำ กรองจนได้น้ำเค็ม แล้วจึงนำมาต้ม บ่อน้ำเกลือ หรือที่เรียกว่า บ่อน้ำสร้าง ขุดลึกลงไปใต้ดิน น้ำเค็มจะขึ้นมา หากต้มโดยใช้น้ำเค็มอย่างเดียว ปริมาณที่ได้แต่ละครั้งจะได้น้อย  และถ้าต้มโดยใช้ดินขี้ทากรองน้ำเค็มอย่างเดียวก็จะเสียเวลาและได้ปริมาณน้อยเช่นกัน ชาวบ้านจึงใช้วิธีใช้ดินขี้ทา ๑ ส่วน ผสมกับน้ำเค็มจากบ่อ ๑ ส่วน ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนจนน้ำใส จึงปล่อยน้ำผ่านท่อไม้ไผ่ลงไปในแอ่งหรือบ่อพักน้ำเกลือ เพื่อรอการต้มต่อไป