ผู้เข้าชม
0
24 เมษายน 2564

 

บริเวณวัดพระบรมธาตุไชยาวรวิหาร

 

การทอผ้าไหมยกดอกซึ่งเป็นเอกลักษณ์เด่นของชาวมุสลิมพุมเรียง

ปัจจุบันคนทั่วไปแทบไม่รู้เรื่องเมืองไชยาเก่า แต่รู้จักเมืองไชยาที่เกิดจากการโยกย้ายและเปลี่ยนแปลงจากเมืองเก่าที่พุมเรียงมาเป็นเมืองไชยาริมทางรถไฟ เมืองเก่าที่พุมเรียงเหลืออยู่ในสภาพเป็นย่านตลาดที่มีความเด่นในการเป็นที่อยู่อาศัยและตลาดที่ผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียงของกลุ่มคนมุสลิม เพราะกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเช่นไทยและจีน รวมถึงคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ต่างโยกย้ายออกไปอยู่ที่ตลาดไชยาริมทางรถไฟ หรือย้ายไปยังเมืองต่างๆ แต่คนมุสลิมอยู่ติดที่ จึงมีการขยายตัวของชุมชนและมัสยิดเพิ่มขึ้นอย่างเป็นปึกแผ่น ซึ่งพอจะพูดได้ว่าคนกลุ่มใหญ่ของย่านตลาดพุมเรียงในเวลานี้คือคนมุสลิม

 

เมืองโบราณบนสันทรายเก่า

อย่างไรก็ตาม เมืองไชยาหาได้หยุดเพียงจากพุมเรียงมาอยู่ใกล้ทางรถไฟที่สถานีไชยาเท่านั้น หากพบร่องรอยเมืองโบราณเก่าแก่กว่าเมื่อข้ามทางรถไฟไปทางตะวันตก อันเป็นพื้นที่ราบลงมาจากเทือกเขาตะนาวศรีที่กั้นระหว่างฝั่งทะเลอันดามันทางตะวันตกกับฝั่งทะเลอ่าวไทยทางตะวันออกบริเวณอ่าวบ้านดอน เป็นแหล่งชุมชนโบราณบนสันทรายเก่า มีศาสนสถานเก่าแก่แต่สมัยทวารวดี-ศรีวิชัย มีการขุดแต่งและบูรณะ ๔ แห่ง คือที่วัดแก้ว วัดหลง วัดเวียง และวัดพระบรมธาตุไชยา

ศาสนสถานที่วัดแก้ว วัดหลง และวัดพระบรมธาตุไชยา มีรูปทรงเป็นปราสาทที่ประดิษฐานรูปเคารพทั้งในพุทธศาสนามหายานและฮินดู หาใช่เป็นแบบพระสถูปที่บรรจุพระบรมธาตุไม่ บรรดาศิลปะและรูปแบบของพระพุทธรูปและเทวรูปที่พบในบริเวณนั้น ส่วนใหญ่เป็นแบบที่เรียกว่า ศรีวิชัย โดยบรรดาเทวรูปพระโพธิสัตว์และพระพิมพ์ที่เทียบอายุได้แต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา และยิ่งเมื่อนำศิลาจารึกที่มีพระนามพระเจ้ากรุงศรีวิชัยมาเชื่อมโยงก็เกิดความคิดเห็นและความเชื่อว่าเมืองโบราณแห่งนี้คือเมืองศรีวิชัย และเชื่ออีกว่าเป็นเมืองศูนย์กลางของอาณาจักร จึงเกิดวาทกรรมถึงเรื่องศรีวิชัยอยู่ที่ไชยาหรือปาเล็มบังขึ้นในบรรดานักโบราณคดีและประวัติศาสตร์ตามที่กล่าวมาข้างต้น

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เพิ่มความสำคัญของเมืองไชยาขึ้นไปอีกก็คือ เมื่อมีการตั้งชื่อพระบรมธาตุอันเป็นศาสนสถานโบราณเหมือนกับวัดแก้วและวัดหลงว่า พระบรมธาตุไชยา ซึ่งหมายถึงพระเจดีย์บรมธาตุแห่งเมืองไชยา เลยทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเมืองไชยาที่วัดพระบรมธาตุคือเมืองไชยาเก่ามาแต่โบราณ

ในการศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีในมิติทางภูมิวัฒนธรรม [Cultural landscape] ของข้าพเจ้า ถือว่าเมืองโบราณบนสันทรายเก่าที่มีปราสาทสมัยศรีวิชัยตั้งอยู่นั้น ไม่ได้เรียกชื่อเป็นเมืองไชยา อีกทั้งเมืองนี้ก็หาใช่เมืองชื่อศรีวิชัยไม่ เพราะศรีวิชัยเป็นชื่อทั้งแว่นแคว้นและพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของแคว้น เช่นเดียวกันกับคำว่าทวารวดีที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมืองโบราณแห่งนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลที่พุมเรียง แต่อยู่ห่างจากพุมเรียงเข้ามาภายในทางตะวันตกกว่า ๖ กิโลเมตร อยู่ในบริเวณที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำลำคลอง ซึ่งใช้ลำน้ำเป็นเส้นทางคมนาคม ตำแหน่งของเมืองอยู่ทางเหนือของอ่าวบ้านดอน ที่ติดกับพื้นที่ที่เป็นท้องทุ่งและป่าเขาของอำเภอท่าชนะ เป็นตำแหน่งที่อยู่ระหว่างลำน้ำหลายสายที่ไหลลงจากเทือกเขาทางตะวันตก ไหลมาถึงบริเวณสันทรายเก่าอันเป็นที่ตั้งของเมือง แตกออกเป็นแพรก ไหลผ่านบริเวณเมือง ก่อนจะไหลไปออกทะเลที่พุมเรียง โดยปากน้ำอยู่ที่ปากคลองไชยาและปากคลองท่าปูน บริเวณตั้งแต่คลองพุมเรียงลงมาถึงปากคลองไชยาและคลองท่าปูนดังกล่าว แม้จะมีลำน้ำลำคลองผ่านหลายสายก็ตาม แต่มิได้เป็นบริเวณที่ชายทะเลกินเว้าเข้ามาถึงเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บนสันทรายเก่า ผิดกันกับบริเวณทางใต้ของลำคลองท่าฉาง ที่ท้องทะเลเคยเว้าเข้าไปภายใน เป็นต้นอ่าวที่เป็นพื้นที่ลุ่มเก่า และจากร่องรอยของลำน้ำลำคลองที่ซับซ้อนอันเกิดจากการขุดลัดและเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างกัน ทำให้แลเห็นพื้นที่อันเป็นนิเวศของเมืองโบราณบนสันทรายเก่า นั่นคือเป็นบริเวณที่มีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านเมือง