พระพิมพ์แบบเม็ดกระดุม พบมากบริเวณแหล่งโบราณคดีแถบลุ่มน้ำตาปีและควนสราญรมย์
ในอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ส่วนนักสะสมบางท่านเสนอข้อมูลนัยว่าเป็นพระถ้ำเสือกรุเขาทำเทียม ในขณะที่คุณมนัสให้ข้อมูลว่าเป็นพระพิมพ์แบบศรีวิชัย ซึ่งชัดเจนว่าเป็นพระพิมพ์ในอิทธิพลพุทธศาสนาแบบมหายานที่เข้ามาสู่คาบสมุทร ภาพพระเม็ดกระดุมแบบพระพิมพ์รูปกลมเช่นที่พบทางพุนพินและพระพุทธเจ้าประทับบนแท่นเหมือนนั่งเก้าอี้ล้อมรอบด้วยพระโพธิสัตว์หรือบุคคลต่างๆ พบมากทางแถบควนสราญรมย์ แหล่งเขานุ้ย ในอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง แต่ก็ดูจะเหมือนเป็นพิมพ์ที่ไม่คมชัด ค่อนข้างรางเลือนอาจจะเนื่องด้วยสภาพแวดล้อมที่พบหรืออาจจะมีการทำพิมพ์เลียนแบบในช่วงสมัยเดียวกัน ไม่ใช่แม่พิมพ์มาตรฐานดังเช่นที่มักพบในเขตคาบสมุทร ซึ่งการบันทึกข้อมูลจะมีพระปางสมาธิแบบพระถ้ำเสือร่วมด้วยและที่น่าสนใจคือรูปแบบพระถ้ำเสือขนาดเล็กแต่ทำปางปฐมเทศนาหรือวิตรรกะมุทรา ซึ่งมีภาพบันทึกอยู่ในฐานข้อมูลของคุณมนัส โอภากุล เช่นเดียวกัน (อดุลย์ ฉายอรุณ. พระถ้ำเสือ มรดกของสุวรรณภูมิ, ๒๕๕๑)
อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่ามีพระพิมพ์แบบพระถ้ำเสือพบร่วมกับพระพิมพ์แบบคาบสมุทรหรือแบบศรีวิชัยอย่างแน่ชัดหรือเป็นการค้นหาจนทำให้มีการพบร่วมกันก็เป็นได้