สิ่งที่ยืนยันได้ดีว่าศรีวิชัยที่ปาเล็มบังเก่าแก่กว่าศรีวิชัยที่ไชยาก็คือ รอบเขาบูกิตเซกุลตังพบเศษเครื่องปั้นดินเผาจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น ที่มีอายุเก่าแก่กว่าเครื่องปั้นดินเผาของราชวงศ์ถังหลายร้อยปี ขณะที่ไชยาพบแต่เครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ถังเป็นส่วนใหญ่ และสัมพันธ์กับแหล่งขนถ่ายสินค้าชายทะเลที่แหลมโพธิ์ รวมทั้งแหล่งเมืองท่าที่เกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
เครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ฮั่นดังกล่าว จากการค้นคว้าของนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลูกปัดให้ข้อมูลว่า พบมากที่เขาสามแก้วใกล้แม่น้ำท่าตะเภา อันเป็นแหล่งเมืองท่าโบราณที่มีอายุเก่าแก่ไปถึงพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ การพบเครื่องปั้นดินเผาเคลือบจากแหล่งท่าเรือชายทะเล แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อค้าขายกับจีนมาแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ ลงมาแล้ว เป็นการค้าจากฝั่งทะเลจีนผ่านคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะไปยังฝั่งทะเลอันดามัน ข้ามมหาสมุทรอินเดียไปยังเมืองท่าฝั่งตะวันออกของอินเดีย แต่ที่อ่าวบ้านดอนอันมีเมืองไชยาเป็นเมืองสำคัญนั้น จากการค้นคว้าของนักโบราณคดียังไม่พบเครื่องปั้นดินเผาสมัยฮั่น แต่แหล่งโบราณคดีที่พบลูกปัดสมัยสุวรรณภูมิตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ ลงมา พบเครื่องปั้นดินเผาจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นที่ท่าชนะซึ่งอยู่เหนืออ่าวบ้านดอนขึ้นไป บริเวณนี้มีแหล่งชุมชนโบราณบนแนวสันทรายใกล้กับเวิ้งน้ำที่เรียกว่า ลากูน มีทางน้ำไปออกทะเล ทำให้เรือสินค้าขนาดเล็กตามชายฝั่งเข้ามาได้ ชุมชนบนแนวสันทรายนี้คือแหล่งที่พบบรรดาลูกปัดสมัยสุวรรณภูมิลงมาจนถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น
แหล่งชุมชนบนแนวสันทรายในเขตอำเภอท่าชนะ น่าจะเป็นชุมชนที่ทำอุตสาหกรรมการผลิตแก้วและทำลูกปัด [Cottage industry] เพราะพบเศษชิ้นส่วนของแก้วและหินสีมีค่าที่ใช้ในการทำลูกปัดในสมัยก่อนทวารวดีและศรีวิชัย ส่วนบริเวณแหลมโพธิ์ซึ่งอยู่ตอนปลายสุดของแนวสันทรายที่ปลายแหลมซุยและแหลมโพธิ์ แหลมซุยเป็นแนวสันทรายเกิดใหม่ แต่แหลมโพธิ์ที่อยู่ต่ำลงมาเป็นแนวสันทรายเก่าที่อยู่ตรงปากคลองพุมเรียง ซึ่งไหลลงมาจากท้องน้ำที่เป็นลากูนริมทะเลในเขตตำบลตะกรบ อำเภอไชยา ตรงปลายแหลมโพธิ์คือบริเวณที่พบแหล่งลูกปัดและเครื่องปั้นดินเผาแต่สมัยราชวงศ์ถังลงมา เป็นแหล่งจอดเรือขนถ่ายสินค้าทางทะเล รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตแก้วและลูกปัดในสมัยทวารวดี-ศรีวิชัย
นับเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าและท่าจอดเรือของบรรดาพ่อค้านานาชาติในยุคนั้น การขุดค้นทางโบราณคดีพบร่องรอยอาคารก่ออิฐเพียงเล็กน้อย แต่พบบ่อน้ำกินกว่า ๒๐ แห่ง อันแสดงให้เห็นว่าเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของพวกพ่อค้า ไม่ใช่บริเวณชุมชนคนพื้นเมือง
แต่ชุมชนบ้านเมืองที่สัมพันธ์กับแหล่งขนถ่ายสินค้านั้นอยู่ที่ป่ายาง บนเนินทรายชายฝั่งทะเลใกล้กับปากคลองพุมเรียง เป็นพื้นที่ดอนเหมาะกับการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองแต่สมัยศรีวิชัยลงมา เป็นบริเวณที่ชาวบ้านขุดพบบรรดาเครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ถังลงมา และลูกปัดสีต่างๆ เช่นเดียวกันกับที่พบที่แหลมโพธิ์ นับเป็นแหล่งชุมชนบ้านเมืองเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยาและกรุงเทพฯ จนกลายเป็นที่ตั้งของเมืองไชยา ซึ่งมีขุนนางที่แต่งตั้งจากเมืองหลวงให้มาเป็นเจ้าเมือง
อาจกล่าวได้ว่าบริเวณนี้คือเมืองไชยาเก่าที่ตั้งอยู่ใกล้กับทะเล เช่นเมืองเก่าแต่สมัยอยุธยาลงมาในภาคใต้ทั้งหลาย เพราะอาศัยเส้นทางทะเลในการติดต่อกับบ้านเมืองอื่น
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการตัดทางรถไฟมายังภาคใต้ จึงขยายตัวเมืองและย้ายย่านตลาดมาอยู่ใกล้ทางรถไฟบริเวณสถานีไชยาแทน การขยายตัวของเมืองริมทะเลที่ไชยานั้น สะท้อนให้เห็นจากชีวิตของท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้เกิดในตระกูลพ่อค้าคนจีนที่ย่านตลาดพุมเรียง ได้ศึกษาเล่าเรียนและบวชที่วัดพุมเรียงอันเป็นเมืองไชยาเก่า
ลูกปัดยุคสุวรรณภูมิจากท่าชนะ ทำจากหินกึ่งรัตนชาติทำเป็นรูปสัญลักษณ์มงคลทางพุทธศาสนา
ซึ่งพบว่าเป็นแหล่งผลิตขนาดใหญ่ต่อเนื่องมาจากสมัยสุวรรณภูมิ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๘) จนถึงสมัยศรีวิชัย (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖)
เขาประสงค์ที่ท่าชนะ ถือว่าเป็นจุดหมายสำคัญ [Landmark] สำหรับการเดินทางเลียบชายฝั่งทะเล
มีถ้ำซึ่งประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์และถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนโบราณในแถบนี้