ผู้เข้าชม
0
24 เมษายน 2564

เส้นทางและการค้าขายกับจีนในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ มีจารึกเอ่ยพระนามของพระเจ้ากรุงศรีวิชัย เพียงพอที่จะบอกว่าเมืองไชยาที่อ่าวบ้านดอนเป็นศรีวิชัย หรือเป็นเมืองหนึ่งในกลุ่มมัณฑละศรีวิชัย แต่ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นเมืองศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะเรื่องการเป็นเมืองหลวงของศรีวิชัยเป็นเรื่องพ้นสมัยไปแล้ว แต่ไชยาเป็นศรีวิชัย โดยเป็นนครรัฐหนึ่งในมัณฑละศรีวิชัย

จารึกที่เอ่ยพระนามของพระเจ้ากรุงศรีวิชัยนอกจากพบที่ไชยาแล้ว ยังพบอีกแห่งหนึ่งที่เมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เป็นภาษามลายูโบราณ มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แต่จารึกที่ไชยาเป็นภาษาสันสกฤต มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ จึงบอกได้ว่าเมืองปาเล็มบังเป็นนครรัฐแห่งหนึ่งของมัณฑละศรีวิชัย และศรีวิชัยเกิดขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ นับเป็นยุคแรกขณะที่ไชยาเป็นศรีวิชัยในยุคหลังลงมา ที่มีข้อความกล่าวถึงกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ที่อยู่ที่เกาะชวา อันแสดงให้เห็นว่าเป็นยุคที่มัณฑละศรีวิชัยแผ่กว้างไปถึงชวาและคาบสมุทรไทย เป็นยุคที่พุทธศาสนามหายานเป็นปึกแผ่นด้วยความเจริญทางศิลปวัฒนธรรม เช่น การเกิดสถาปัตยกรรมทางศาสนา พระพุทธรูปแบบศรีวิชัย ซึ่งเป็นลักษณะผสมผสานของศิลปะแบบปาละ ชวา และทวารวดี

แต่ที่เมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา แม้จะภูมิฐานเป็นเมืองใหญ่ใกล้แม่น้ำที่มาจากทะเล และตั้งอยู่ใกล้เขาศักดิ์สิทธิ์คือเขาบูกิตเซกุลตัง [Bukit Seguntang] พบโบราณสถานและโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาน้อยมาก ดูแล้วแทบไม่มีศาสนสถานและวัตถุในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ เท่าใด เท่าที่ข้าพเจ้าได้ไปเห็น คือพระพุทธรูปที่มีจีวรเป็นริ้วคล้ายกับพระพุทธรูปแบบอนุราธปุระของลังกาและแบบอมราวดีของทางอินเดีย ที่ล้วนมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ขึ้นไป แต่ที่สำคัญ ที่เมืองปาเล็มบังได้พบพระพุทธรูปแบบทวารวดี ซึ่งเป็นของที่นำไปจากทางไชยาหรือไม่ก็นครปฐม

 

จารึกสิทธิยาตราศรีวิชัย ราว พ.ศ. ๑๒๒๖ พบที่ Kedukan Bukit ปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินโดนีเซีย

 

พระพุทธรูปที่มีจีวรเป็นริ้วคล้ายกับพระพุทธรูปแบบอนุราธปุระของลังกาและแบบอมราวดี

พบที่ปาเล็มบัง