ภาชนะขนาดใหญ่รูปทรงพิเศษทำจากดินเผา ถูกฝังไว้ภายในแท่นหินและน่าจะอยู่ภายในพระสถูป ภายในบรรจุพระพิมพ์ดินเผา รายงานกล่าวว่าพบ ๓ ใบ ส่วนพระพิมพ์น่าจะพบจำนวนไม่น้อย (ซ้าย)
พระพิมพ์ด้านหลังบางชิ้นมีจารึกอักษรหลังปัลลวะ ภาษามอญโบราณ แปลความว่า ‘บุญนี้ (เป็นของ) กษัตริย์มะระตา (ผู้สร้าง) พระพุทธรูป’ กำหนดอายุจากจารึกได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ (ขวา)
โดยภาชนะดินเผาที่พบรูปแบบไหขนาดค่อนข้างใหญ่ ปากแคบเล็กกว่าตัวภาชนะ ซึ่งคล้ายกับภาชนะทำด้วยหินขนาดใหญ่มากที่พบบริเวณเมืองนครปฐมโบราณ เป็นรูปแบบที่ไม่ใช่ภาชนะธรรมดาแต่สร้างเป็นพิเศษเพื่อการบรรจุพระพิมพ์กลุ่มนี้โดยเฉพาะ เมื่ออ่านจารึกหลังพระพิมพ์องค์หนึ่งก็พบว่าเป็นการทำบุญกุศลของบุคคลสำคัญ จารึกอักษรหลังปัลลวะ ภาษามอญโบราณ แปลความว่า 'บุญนี้ (เป็นของ) กษัตริย์มะระตา (ผู้สร้าง) พระพุทธรูป' กำหนดอายุจากตัวอักษรได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕
พระพิมพ์รูปแบบนี้พบในเมืองโบราณ เช่นพบจากเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ วัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี พระพิมพ์จากเมืองนครปฐมโบราณและเมืองกำแพงแสน และคล้ายคลึงกับที่พบพระพิมพ์จากดงแม่นางเมือง ในจังหวัดนครสวรรค์ด้วย เป็น พระพิมพ์ที่ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาแบบมหายานในศิลปะแบบปาละ ร่วมสมัยกับยุคทวารวดีตอนปลายและยุคสมัยศรีวิชัยทางคาบสมุทร อันแสดงถึงบริเวณเมืองอู่ทองก็ยังคงมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อมา และการพบพิมพ์โลหะขนาดเล็กที่ไม่ใช่โลหะผสมแบบสำริด ที่มักสร้างเป็นประติมากรรมลอยตัว ส่วนพระพิมพ์นิยมใช้เนื้อดินหรือหากใช้โลหะจะเป็นแร่เงินและทองเป็นพระพิมพ์แบบดุนลายลงบนแผ่นเงินและทอง หากแต่เป็นการใช้ตะกั่วทั้งชิ้นสร้างพระพิมพ์และรูปบุคคลสำคัญขนาดเล็กนี้ จึงน่าสนใจว่า ‘จะเป็นการเริ่มให้ความสำคัญกับแร่ตะกั่วในพื้นที่แถบนี้ด้วย ?’