ผู้เข้าชม
0
8 เมษายน 2567

การเปรียบเทียบไปยังถ้ำเขานุ้ยและเขากอบในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นเขตการทำเหมืองแร่ดีบุกชัดเจนและมีอยู่ติดกับเส้นทางคมนาคมจากชายฝั่งอันดามันสู่ชายฝั่งอ่าวไทย การพบพระพิมพ์แบบมหายานปาละ พระพิมพ์แบบที่คล้ายพระพิมพ์ลพบุรี พระพุทธรูปแบบไชยาที่เป็นพระแบบข้อมือหัก การเขียนภาพสีแดงรูปธรรมจักรหรือตราเป็นวง แบบแผนเหล่านี้ล้วนปรากฏอยู่ที่อาณาบริเวณเมืองอู่ทองเช่นกัน

จากภาพถ่ายสมบัติส่วนตัวของคุณมนัส โอภากุล ที่ระบุว่าเป็น พระถ้ำเสือพิมพ์ใหญ่แบบเก่า เป็นพระปางมารวิชัย เห็นชัดเจนเลยว่ามีรูปแบบของ ‘พระข้อมือหัก’ แบบที่พบในบริเวณกลุ่มเมืองไชยาและนครศรีธรรมราช และเรื่อยมาจนถึงเมืองเพชรบุรี ราชบุรีทีเดียว และที่น่าแปลกใจคือพบว่ารูปแบบพระข้อมือหักเช่นนี้เก็บรักษาไว้ในระเบียงคดของปราสาทนครวัดเป็นกลุ่มใหญ่ด้วยซึ่งต้องศึกษาถึงเหตุผลนี้อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

‘พระถ้ำเสือ’ จำนวนมากคือคติการบรรจุพระที่ผลิตจากพิมพ์ทำอย่างหยาบๆ เพื่อทำจำนวนมากๆ เป็นประกอบการเดินทางจาริกตามขนบการเดินทางสู่ ‘ปุษยคีรี’ และต่อมาคือการรับคติเรื่องการจาริกแสวงบุญเพื่อมาไหว้พระบาทที่เขาดีสลักต่อมาในช่วงสมัยลพบุรี ซึ่งพระบาทที่เขาดีสลักนี้รับอิทธิพลรูปแบบความเป็นตัวเองมาจากสมัยทวารวดีตอนปลายนี้อย่างแจ่มชัด และน่าจะส่งอิทธิพลให้แก่พระพุทธบาทหินทรายซึ่งพบที่นครวัดด้วย

การบรรจุพระจำนวนมากๆ แม้จะเป็นพระพิมพ์แบบท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะก็ตาม แต่ต้องใช้อานิสงส์ความเพียรไม่น้อยในการบรรจุแต่ละคราว แต่ละเขาแต่ละเทือกเขา เป็นการสืบพระศาสนาให้แก่ผู้มีความเพียรและมีฐานะที่สามารถทำพระพิมพ์ดินดิบครั้งละมากๆ ได้ และแนวเขาของเมืองอู่ทองนี้จึงมีการอยู่อาศัยใช้งานสืบเนื่องมาจากสมัยทวารวดีจนถึงสมัยลพบุรีและน่าจะถึงสมัยสุพรรณภูมิ/อโยธยาในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง และเห็นได้ชัดในการตั้งชุมชนที่สอดรับกับเส้นทางการเดินทางเพื่อการรับส่งสินค้าของป่าโดยเฉพาะแร่ตะกั่วจากต้นน้ำแม่กลองในเขตเทือกเขาทางตะวันตก

‘พระถ้ำเสือ’ จึงสืบเนื่องเป็นผลมาจากคติการจาริกแสวงบุญในการเดินทางสู่‘ ปุษยคีรีศาสนสถานบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองอู่ทอง และการขยายตัวไปตามแนวเขาทางด้านเหนือที่สอดรับกับการเกิดขึ้นของบ้านเมืองใหม่ๆ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘  ซึ่งในที่สุดก็เกิด ‘ เมืองสุพรรณภูมิ’  ริมแม่น้ำสุพรรณบุรีของกลุ่มชาวสยาม 

สันนิษฐานว่า พระถ้ำเสือที่มีอัตลักษณ์ถือกำเนิดในช่วงเวลานี้  

 

 

 

บรรณานุกรม

มนัส โอภากุล. พระถ้ำเสือเมืองสุพรรณ, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๔ , ฉบับที่ ๕, มีนาคม ๒๕๓๖ 

มนัส โอภากุล, อีแปะจีน ใต้พื้นดินเมืองสุพรรณ, ศิลปวัฒนธรรม. กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ 

อดุลย์ ฉายอรุณ. พระถ้ำเสือ มรดกของสุวรรณภูมิ, ๒๕๕๑



คำสำคัญ : พระพิมพ์ดินดิบ พระถ้ำเสือ พระผงสุพรรณ
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
อีเมล์: [email protected]
เจ้าหน้าที่วิชาการของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เริ่มทำงานกับมูลนิธิฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ ทำโครงการนำร่องร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่ง ก่อนทำงานศึกษาท้องถิ่นร่วมกับชาวบ้าน และปัจจุบันกลับมาสนใจศึกษางานโบราณคดี