รายการอดีตในอนาคต
ชุดบ้านเมืองในคาบสมุทรแห่งสยามประเทศ
ตอน
ศรีวิชัยที่ไชยา
ภูมิหลังเรื่องศูนย์กลางของศรีวิชัย
ในวงการประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว ๔๐ ปีที่ผ่านมา มีการค้นคว้าและถกเถียงกันใหญ่โตถึงเรื่องอาณาจักรศรีวิชัยที่มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งการเมืองและเศรษฐกิจกว่าบรรดารัฐและบ้านเมืองอื่นๆ ในภูมิภาค ช่วงเวลาแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ อาณาจักรนี้มีอำนาจปกครองบรรดาบ้านเมืองต่างๆ ทั้งในหมู่เกาะและชายทะเลบนคาบสมุทรมลายู ที่ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศอินโดนีเซีย มลายู และทางตอนใต้ของประเทศไทย
ปัญหาทางประวัติศาสตร์ที่มีการถกเถียงกันก็คือ อาณาจักรศรีวิชัย มีเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ไหน อยู่ทางใต้ของประเทศไทยหรือบนคาบสมุทรของมาเลเซีย หรือบนเกาะในประเทศอินโดนีเซีย? ดังกล่าวเป็นการถกเถียงกันในระดับระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันภายในแต่ละประเทศก็มีการถกเถียงกันว่าอยู่ที่เมืองใด เช่น ที่อินโดนีเซียอยู่ที่ชวาหรือสุมาตรา และในสุมาตราอยู่ที่เมืองปาเล็มบังหรือเมืองจัมบี ส่วนในประเทศไทยถกเถียงกันว่าอยู่ที่ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
แต่เมื่อสรุปแล้ว นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดา และอินเดีย ให้น้ำหนักอยู่ที่เมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียว่าเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย
ในกรณีนี้มีการคัดค้านหลักฐานทางโบราณคดีโต้ตอบกันระหว่าง ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ [Prof. George Coedès] นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ผู้เป็นปรมาจารย์ของนักโบราณคดีไทย เสนอว่าเมืองปาเล็มบังคือเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย กับ ดร. เฮช.จี. ควอริตช์ เวลส์ [Dr.H.G. Quaritch Wales] นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ซึ่งเห็นว่าศูนย์กลางศรีวิชัยอยู่ที่เมืองไชยา อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ดร.เวลส์คือผู้ที่ศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากเมืองท่าที่เกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ทางฝั่งทะเลอันดามันข้ามเขาสกในเทือกเขาตะนาวศรี มาออกทะเลอ่าวไทยที่อ่าวบ้านดอนซึ่งเป็นแหล่งเมืองท่า แต่ภายหลังดร. เวลส์ ได้ยอมรับข้อเสนอของศาสตราจารย์เซเดส์ว่า ศรีวิชัยอยู่ที่ปาเล็มบัง
ขณะที่ท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้ศึกษาแหล่งโบราณคดีของอ่าวบ้านดอนยังยืนกรานตามข้อเสนอที่ว่า ศรีวิชัยอยู่ที่ไชยาและยืนยันข้อคิดเห็นนี้อย่างเหนียวแน่น ด้วยการหาหลักฐานทางโบราณคดีมาเสนอและเปรียบเทียบกันกับบรรดาหลักฐานที่ว่าศรีวิชัยอยู่ที่เมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา ความขัดแย้งดังกล่าวค่อยซาลงภายหลังสมัยเวลาของศาสตราจารย์เซเดส์ ดร. เวลส์ และท่านพุทธทาสภิกขุ
จนกระทั่งราว ๒๐ ปีให้หลัง การค้นคว้าประวัติศาสตร์โบราณเอเชียอาคเนย์ได้ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยการนำเสนอของ ศาสตราจารย์โอ. ดับเบิลยู. วอลเตอร์ส [Prof. O. W. Wolters] แห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา อาจารย์วอลเตอร์สและนักวิชาการร่วมสมัยกับท่านไม่สนใจในเรื่องเมืองหลวงหรือศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยว่าอยู่ตรงไหน แต่พยายามค้นคว้าเรื่องราวของศรีวิชัยทั้งบนคาบสมุทรและหมู่เกาะทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม