แผนที่แสดงตำแหน่งของเมืองโบราณอู่ทองและเมืองสุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรี และตำแหน่งที่พบพระถ้ำเสือ
ตามเขาต่างๆ และตำแหน่งชุมชนโบราณบ้านหนองแจง
การสำรวจทบทวนข้อมูลทางโบราณคดี บริเวณที่ภูเขาและแนวเขาที่สูง ซึ่งพาดผ่านเป็นแนวยาวจากเหนือลงใต้ตั้งแต่แนวเขาวงทางด้านเหนือรอยต่อกับเขตอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ลงใต้ผ่านเมืองโบราณอู่ทองคือเขากำแพง เขาพระหรือเขาดีสลัก เขาพุหางนาค จนถึงเขาคอกในอาณาบริเวณของเมืองอู่ทองสมัยทวารวดีที่มีการสร้างโบราณสถานแบบฮินดูที่คอกช้างดินและเขาพุม่วง ทำให้ทราบและรับรู้ข้อมูลที่น่าสนใจ และนำเสนอเป็นการเบื้องต้นในที่นี้
กลุ่มโบราณสถานบนเขาในเขตอาณาบริเวณเมืองอู่ทอง ได้แก่ ‘เขาคอก’ ซึ่งถูกสัมปทานระเบิดหินไปจนถึงเขตวนอุทยานพุม่วง ที่มีโบราณสถานในกลุ่มความเชื่อแบบฮินดู มีทั้งฐานอาคารศาสนสถานและคอกช้างดินที่น่าจะเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมการเก็บน้ำศักดิ์สิทธิ์บางประการ โดยกลุ่มศาสนสถานแบบฮินดูนี้อยู่ห่างจากเมืองอู่ทองที่เป็นเมืองทวารวดีราว ๔ กิโลเมตร ใกล้เคียงกับศาสนสถานแบบฮินดูและน้ำตกพุม่วงปรากฏ ‘ถ้ำเสือ’ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ‘พระถ้ำเสือ’ และกลายเป็น ‘วัดถ้ำเสือ’ ในทุกวันนี้เป็น สถานที่แรกๆ ที่พบพระพิมพ์ขนาดเล็ก ซึ่งไม่เป็นที่สนใจของนักโบราณคดีหรือนักวิชาการทั่วไปนัก แต่เป็นที่สนใจของนักสะสมพระด้วยความไม่แน่ใจว่าเป็นสิ่งของที่ผลิตขึ้นในยุคสมัยใด และมีข้อถกเถียงซึ่งยังไม่เป็นที่ยุติเรื่อยมา และมีศรัทธาเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์เฉพาะตนเฉพาะกลุ่ม