ภาพพระถ้ำเสือที่พบใต้แท่นพระบาท วัดเขาดีสลัก พิมพ์ใหญ่ หูบายศรี (ซ้าย)
ภาพพระถ้ำเสือที่พบใต้แท่นพระบาท วัดเขาดีสลัก พระพิมพ์ดินเผาปางมารวิชัย มีหู (ขวา)
อย่างไรก็ตาม ที่เขาดีสลักนี้ คุณมนัส โอภากุลได้เขียนบทความเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ว่าพบ พระพุทธบาทจำลองทำจากหินที่ยอดเขาดีสลัก ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่บนอาคารที่สร้างด้วยหินเรียงบนยอดเขานี้ นอกจากนั้นเมื่อสำรวจภาพข้อมูลที่เป็นสมบัติส่วนตัวของคุณมนัส โอภากุล เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ นี้พบว่า มีภาพพระถ้ำเสือที่เขียนกำกับว่า พบภายใต้แท่นหินพระพุทธบาทจำลอง แสดงว่าเมื่อพบพระพุทธบาทที่บนอาคารบนยอดเขานั้น ภายในกรุแท่นหินก็พบพระพิมพ์แบบพระถ้ำเสือบรรจุอยู่ด้วย จึงมีโอกาสเป็นไปได้มากที่พระถ้ำเสือจะเป็นสิ่งของร่วมสมัยกับรอยพระพุทธบาท ซึ่งได้รับการประเมินอายุจากนักวิชาการหลายท่านโดยเฉพาะอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมว่าอยู่ในช่วงทวารวดีตอนปลายต่อเนื่องกับสมัยลพบุรีในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
อย่างไรก็ตาม ที่มาของการพบรอยพระพุทธบาทนี้มีหลายกระแส บ้างก็ว่าถูกนำไปไว้ที่วัดมหาธาตุ สุพรรณบุรีแล้วนำมาคืนบ้าง บ้างก็บอกว่าไม่เคยได้ยินเรื่องดังกล่าว บ้างก็ว่ามีการพบนานมาแล้วก่อน พ.ศ. ๒๕๓๓ แต่จะอย่างไร การพบรอยพระพุทธบาทนี้สัมพันธ์กับรูปแบบของการสร้างอาคารบนยอดเขาที่อยู่ในยุคหลังลงมาจากการสร้างศาสนสถานเช่นนี้และบรรจุกรุพระในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ เช่นที่โบราณสถานพุหางนาคหรือเขาทำเทียมซึ่งอยู่ในช่วงทวารวดีตอนปลายหรือในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖
นอกจากนี้ยังมีการพบพระถ้ำเสือจำนวนมากจากเขาดีสลัก ในถ้ำที่เป็นโพรงขนาดเล็กๆ ซึ่งคุณมนัส โอภากุลได้เขียนเล่าถึงการแตกกรุครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายที่เขาดีสลักไว้ในบทความเรื่องเดียวกัน และปรากฏแพร่หลายมากทีเดียวในหมู่ผู้สะสมในทุกวันนี้