ผู้เข้าชม
0
8 เมษายน 2567

ผู้ชำนาญเส้นทางที่สูงเพื่อนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนเหล่านี้สามารถเดินทางไปสู่ ‘บ้านหนองแจง’ ที่พบการสร้างสระน้ำหลายแห่ง การทำแนวทำนบ สามหรือสี่แนวและบางทีอาจจะเป็นแนวคูคันดินรูปสี่เหลี่ยม เป็นโครงสร้างของชุมชนแบบลพบุรีแม้จะมีขนาดใหญ่ แต่อยู่ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอย่างเห็นได้ชัด จาก ‘บ้านหนองแจง’ สามารถเดินทางเพื่อไปยังแนว ‘ลำน้ำท่าว้า’ ได้ไม่ไกลนักในระยะไม่เกิน ๒๐ กิโลเมตร

 

แผนที่ทางทหารมาตราส่วน ๑: ๕๐,๐๐๐ ลำดับชุด L708 แสดงแนวทำนบและสระน้ำบริเวณ

บ้านหนองแจง อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งติดต่อกับที่เนินสูงแถบอำเภอเลาขวัญ

จังหวัดกาญจนบุรี 

พบโบราณวัตถุสำคัญในรุ่นลพบุรีมากมาย กระจายอยู่ในอาณาบริเวณกว้างขวาง โดยเฉพาะเครื่องถ้วยแบบราชวงศ์ซ่งเหนือและซ่งใต้เทียบอายุได้ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จนถึง ๑๘ และพบเหรียญอีแปะจีนช่วงราชวงศ์ซ่งเหนือ อายุในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จำนวนหนึ่ง (มนัส โอภากุล, อีแปะจีน ใต้พื้นดินเมืองสุพรรณ, ศิลปวัฒนธรรม. กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙)

นอกจากนี้พบพระพิมพ์ดินเผาและโลหะแบบลพบุรี พระพิมพ์ปางพุทธคยา โซ่ทำจากตะกั่ว ฯลฯ และบริเวณนี้ไม่พบการบรรจุพระพิมพ์แบบถ้ำเสือเช่นที่พบตามเขตภูเขาที่สูงแต่อย่างใด

 

เศษภาชนะเนื้อแกร่ง เคลือบสีขาวและขาวเทาและมีลวดลายดุนนูนใต้เคลือบ น่าจะเป็นภาชนะใน

สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ซึ่งสอดคล้องกับเหรียญอีแปะที่พบ