ผู้เข้าชม
0
24 เมษายน 2564

พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ประทับนั่งเหนือบัลลังก์นาคราช ๗ เศียร เป็นศิลปะแบบลพบุรี มีจารึกภาษาขอมระบุ พ.ศ. ๑๗๒๕

การเปลี่ยนแปลงของเมืองและศาสนานั้น แลเห็นได้จากวัดเวียงที่ข้าพเจ้าเสนอว่าเป็นบริเวณพระราชวังในตัวเวียงของเมืองโบราณบนสันทราย บริเวณวังกลายเป็นวัด มีซากวิหารหรือโบสถ์ที่มีการนำพระพุทธรูป เทวรูป และรูปเคารพของเมืองที่มีมาแต่เดิมมาประดิษฐานไว้ ในยุคนี้การสร้างเทวรูปพระโพธิสัตว์และพระพิมพ์ค่อยๆ หมดไป มีการสร้างพระพุทธรูปนั่งแบบเถรวาทด้วยหินทรายแดงขึ้นมาแทน รวมทั้งแปลงศาสนสถานที่เป็นปราสาทสมัยศรีวิชัย เช่น วัดแก้วและวัดหลง ให้เป็นวัดในพุทธศาสนาเถรวาท เช่น การสร้างช่องคูหาแต่ละทิศของปราสาทวัดแก้วให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายแดง รวมทั้งการซ่อมแซมเครื่องบนช่องปราสาทวัดแก้วด้วยหินทรายแดง มีการสร้างวัดวาอารามตามถ้ำและภูเขาทางด้านตะวันตกที่มีหินทรายแดงหลายแห่ง เช่นที่เขานางเอและเขาสายสมอ เป็นต้น

แต่ศาสนสถานสำคัญที่สุดในสมัยการเปลี่ยนแปลงเป็นพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ที่ไชยาก็คือ วัดพระบรมธาตุไชยา ที่รูปแบบของพระสถูปอันเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุเลียนแบบทรงปราสาทสมัยศรีวิชัย มีซุ้มทิศที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีโบสถ์และวิหารโถงขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายแดง และที่ระเบียงคดรอบพระอุโบสถก็เป็นที่รวมของพระพุทธรูปหินทรายแดงในช่วงเวลาต่างๆ แต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๑

ในบรรดาพระพุทธรูปหินทรายแดงของเมืองไชยาเหล่านี้ มีพระพุทธรูป ๒ องค์ที่ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นอัตลักษณ์ของสกุลช่างเมืองไชยา คือพระพุทธรูปหินทรายแดงปางห้ามญาติที่เคยประดิษฐานอยู่ที่ซุ้มหน้าประตูพระอุโบสถ ลักษณะท่าทางการยืนเป็นแบบพระพุทธรูปสมัยทวารวดี แต่นุ่งผ้าแบบศิลปะลพบุรี พระพักตร์แบบทวารวดี และมีรูปใบโพปิดหน้าพระเกตุมาลาแทนรูปพระธยานิพุทธอมิตาภะบนพระเศียรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร


พระพุทธรูปองค์ที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ประทับนั่งเหนือบัลลังก์นาคราช ๗ เศียรที่เป็นศิลปะแบบลพบุรี มีจารึกภาษาขอมระบุ พ.ศ. ๑๗๒๕ เป็นรับสั่งของพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองแคว้นในสมัยนั้น ให้เสนาบดีผู้รักษาเมืองครหิสร้างพระพุทธรูปนี้ไว้ให้ผู้คนสักการบูชา จึงทำให้รู้ว่าเมืองไชยาในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อันเป็นสมัยที่มีการนับถือพุทธศาสนาเถรวาทนั้น มีชื่อว่า ครหิ และเมืองครหิก็กลายเป็นเมืองแห่งหนึ่งในแว่นแคว้นที่มีพระราชาธิบดีปกครอง ซึ่งนักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์หลายท่านถกกันว่าพระราชาธิบดีแห่งแคว้นนั้นคือใคร บางท่านบอกว่าอยู่ที่สุมาตรา แต่ข้าพเจ้าขอฟันธงว่าคือแคว้นตามพรลิงค์ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า จันทรภาณุศรีธรรมราช เป็นผู้ปกครอง เพราะนอกจากมีอาณาเขตต่อแดนกับอ่าวบ้านดอนจากเขตอำเภอขนอม ผ่านสิชล ท่าศาลา ลงไปจนถึงปากพนังแล้ว ยังมีเมืองที่เป็นศูนย์กลางของรัฐอยู่ที่เมืองพระเวียงในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช

ตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชมีการติดต่อกับลังกาและรับพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์เข้ามา ทำให้เกิดการสร้างพุทธสถาปัตยกรรมและประติมากรรมแบบใหม่เข้ามาแทนที่รูปแบบศาสนสถานและรูปเคารพเดิมที่มีทั้งฮินดูและพุทธมหายานแต่ครั้งสมัยศรีวิชัย อันได้แก่ พระสถูปทรงกลมตั้งอยู่บนฐานทักษิณ มีพระสถูปเล็กๆ ประดับ ๔ ทิศ และพระหินทรายแดงนั่งและยืนที่แพร่หลายทั่วไปในภาคใต้และกินไปถึงภาคกลาง เป็นพุทธศิลป์ที่นับเนื่องในศิลปะแบบอู่ทอง

เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมา ไชยาเคยเป็นรัฐสำคัญในกลุ่มสหพันธรัฐศรีวิชัย และย้ำอีกครั้งว่า เมืองโบราณบนสันทรายเก่าคือเมืองนครรัฐหนึ่งของศรีวิชัย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือศรีวิชัยอยู่ที่ไชยาตามที่ท่านพุทธทาสภิกขุและนักโบราณคดีและประวัติศาสตร์รุ่นของท่านหลายคนเสนอไว้ ความเป็นเมืองศรีวิชัยที่ไชยา คือเมืองที่ในจดหมายเหตุจีนตามบันทึกของหลวงจีนอี้จิงเรียกว่า นครซิลิโฟซิ (Shih-li-Fo-Shih) ซึ่งเป็นคำที่ใกล้เคียงกับคำว่า “ศรีวิชัย” เป็นบ้านเมืองที่นับถือพุทธศาสนาอย่างเป็นปึกแผ่น และเป็นนครที่หลวงจีนอี้จิงและพระภิกษุจีนองค์อื่นๆ ที่จะไปศึกษาพระไตรปิฎกยังอินเดีย มาศึกษาภาษาสันสกฤตก่อน ๑-๒ ปี มีพระภิกษุสงฆ์พำนักถึง ๑,๐๐๐ รูป

ซึ่งบรรดาพระภิกษุจีนเหล่านี้คงอาศัยอยู่ในกุฏิที่สร้างด้วยไม้เป็นกระท่อม การที่พระสงฆ์จีนต้องมาศึกษาภาษาสันสกฤตก่อนไปอินเดียนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาในยุคของหลวงจีนอี้จิงคือพุทธศาสนาเถรวาทที่เรียกว่า สรวาสติวาทิน ซึ่งเป็นพุทธศาสนาที่ใช้ภาษาสันสกฤต เป็นสิ่งที่แพร่หลายในบ้านเมืองสมัยทวารวดีในภาคกลาง นับแต่นครปฐม คูบัว ไปจนบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และให้ความสำคัญกับพระโพธิสัตว์ เช่นอวโลกิเตศวรและปัทมปาณี หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นพระพุทธศาสนาเถรวาทที่มีพุทธมหายานเข้ามาผสมผสานด้วยแล้ว เรื่องราวการหาหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์มายืนยันความเป็นเมืองศรีวิชัยที่ไชยานี้ ได้เสนอไว้อย่างชัดเจนและดีแล้วในหนังสือแนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน ซึ่งมีบทความกล่าวถึงเส้นทางเรือของหลวงจีนอี้จิง จากจีนผ่านไชยา อ้อมแหลมมลายู ผ่านช่องแคบมะละกาไปออกทะเลอันดามันสู่อินเดีย ซึ่งช่วงเวลานั้นมีการใช้เรือเดินทะเลอย่างเร็วที่เรียกว่า “เรือเปอร์เซีย” แล้ว (มีภาพเรือพนมสุรินทร์ตามออนไลน์ค้นได้เลย)

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ทางกรมศิลปากรมีการขุดพบซากเรือโบราณขนาดใหญ่ยาว ๒๕ เมตร กว้าง ๑๐ เมตร ที่มีอายุอยู่ในสมัยศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ลงมา ที่ใกล้ชายฝั่งทะเลในเขตตำบลพันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร มีหลักฐานหลายอย่างแสดงให้เห็นว่าเป็นเรืออาหรับหรือเปอร์เซีย ที่ข้าพเจ้าคิดว่าคือเรือประเภทเดียวกันกับที่หลวงจีนอี้จิงและพระสงฆ์จีนอาศัยเดินทางผ่านอ่าวบ้านดอนมายังอ่าวไทยภาคกลางที่เมืองนครปฐมโบราณหรือนครชัยศรี ซึ่งเป็นเมืองท่าที่เป็นนครรัฐของแคว้นทวารวดี เป็นเมืองที่มีการนับถือพุทธศาสนาร่วมสมัยกับไชยาในยุคนั้น นครปฐมจึงน่าจะเป็นอีกเมืองหนึ่งที่หลวงจีนจากเมืองจีนมาศึกษาภาษาสันสกฤตและพุทธศาสนาก่อนไปอินเดีย