ผู้เข้าชม
0
24 เมษายน 2564

บ้านเมืองโบราณเก่าๆ ที่พบบนแนวสันทรายเหล่านี้ นับเป็นเขตพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากบ้านเมืองรอบอ่าวบ้านดอน เป็นบ้านเมืองและพื้นที่ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาสันสกฤตในจารึกและเอกสารโบราณว่า ตามพรลิงค์ เรียกว่าเป็นชื่อของนครรัฐที่อยู่เรื่อยมาจนพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยมีเมืองสำคัญอยู่ที่เมืองพระเวียง บนแนวสันทรายต่ำจากตำแหน่งเมืองนครศรีธรรมราชลงมาเล็กน้อย ส่วนนครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ในสมัยอยุธยา

 

ไชยาหรือเมืองครหิในพุทธศตวรรษที่ ๑๘

ที่กล่าวมาเป็นการเสนอให้เห็นภาพกว้างของเมืองไชยาในบริเวณอ่าวบ้านดอน ที่เป็นนครรัฐร่วมสมัยของมัณฑละศรีวิชัย และมีขอบเขตอยู่ที่อ่าวบ้านดอนในแว่นแคว้นตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช สิ่งที่จะกล่าวต่อไปก็คือ ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองโบราณบนสันทรายเก่าที่เป็นตัวนครรัฐ จากการสำรวจหลักฐานทางโบราณคดีที่บันทึกไว้ในหนังสือ แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน ของท่านพุทธทาสภิกขุ พบว่าตำแหน่งของเมืองตั้งอยู่บนแนวสันทรายที่มีวัดเวียงอยู่ตอนเหนือ ต่ำลงมาทางใต้เป็นวัดหลงและวัดแก้ว มีลำคลองไชยาจากวัดพระบรมธาตุไชยาไหลลงมาตัดผ่านสันทราย ทำหน้าที่เป็นคลองเมืองหรือคูเมืองด้านใต้และไหลไปทางตะวันออก ความยาวของเมืองราว ๕๐๐ เมตร กว้าง ๔๒๐ เมตร จากตะวันตกไปตะวันออก โดยมีวัดหลงอยู่ภายในเมือง และวัดแก้วต่ำลงมาอยู่นอกเมือง

แต่แนวสันทรายที่เป็นพื้นที่ตั้งชุมชนที่อยู่อาศัยตลอดแนวเหนือ-ใต้ตั้งแต่บริเวณวัดเวียงทางเหนือ ลงไปทางใต้คือเขาน้ำร้อนซึ่งเป็นเขาลูกโดดสูงประมาณ ๓๐ เมตร มีความยาว ๒.๓๗ กิโลเมตร ทั้งหมดนี้นับเนื่องเป็นเมือง (นครา) โดยมีปุระ [Citadel] อยู่ที่วัดเวียงและวัดหลง ซึ่งการกำหนดพื้นที่เช่นนี้เป็นลักษณะของความเป็นบ้านเมืองแต่โบราณ ทั้งในอินเดียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วย ‘นคร’ และ ‘ปุระ’ นครคือพื้นที่ทั้งหมดที่คนทั่วไปอยู่อาศัย เมืองหรือนครนั้นบางแห่งมีแนวคูน้ำคันดินล้อมรอบ แต่บางแห่งก็ไม่มี อาจทำอย่างหลวมๆ โดยใช้แนวไม้ระเนียดโอบล้อมเพื่อการป้องกัน แต่ปุระทุกแห่งต้องมีคูน้ำและคันดินเป็นกำแพงล้อมรอบ เพราะเป็นที่รวมถึงพระราชวังหรือจวนเจ้าเมือง และสถานที่อาคารในการบริหารปกครอง ท้องพระคลังและคลังสินค้า กองทหาร เป็นต้น รวมทั้งวัดสำคัญๆ ด้วย

โดยย่อก็คือปุระหรือเวียงเป็นตำแหน่งสำคัญของเมืองหรือนคร บรรดาเมืองโบราณในภาคใต้เท่าที่ข้าพเจ้าเคยสำรวจศึกษา แทบไม่พบร่องรอยคูน้ำคันดินรอบเมือง ยกเว้นที่ชัดเจนคือที่เมืองพระเวียงและนครศรีธรรมราช รวมทั้งเมืองรุ่นหลังๆ ในสมัยอยุธยา เช่นสงขลาและไชยบุรีของพัทลุง แต่มักพบปุระหรือเวียงแทน เช่นที่เมืองสทิงพระ เมืองประแวที่ปัตตานี

ที่ไชยาก็เช่นกัน ความเป็นนครต้องกำหนดพื้นที่บนสันทรายทั้งหมด ตั้งแต่วัดเวียงลงไปถึงเขาน้ำร้อน โดยมีปุระอยู่ที่วัดเวียงและวัดหลง เรื่องการกำหนดพื้นที่ถิ่นฐานบ้านเมืองโบราณแห่งนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้ศึกษาที่มีความชัดเจนมากที่สุดจากแหล่งศาสนสถานทางโบราณคดี ที่ได้บันทึกไว้ในหนังสือแนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอนของท่าน โดยเฉพาะการกล่าวถึงเขาน้ำร้อน โบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบบนเขาและบริเวณโดยรอบ รวมถึงบรรดาวัดสำคัญที่พบโบราณวัตถุตั้งแต่สมัยทวารวดี-ศรีวิชัย บนแนวสันทรายจากเขาน้ำร้อน ผ่านวัดนบและวัดอื่นๆ ไปจนถึงวัดแก้ว วัดหลง และวัดเวียง รวมทั้งวัดพระบรมธาตุไชยาที่อยู่กลางทุ่งนอกแนวสันทรายไปทางตะวันตก ห่างจากวัดเวียงราว ๗๘๐ เมตร ตั้งอยู่ริมคลองไชยาที่ไหลผ่านวัดไปยังสันทราย ทำหน้าที่เป็นคูเมืองพระเวียงก่อนไหลลงสู่ที่ลุ่มทางตะวันออก

เขาน้ำร้อน ต้นแนวสันทรายเดิมที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหรือเมืองไชยาในยุคศรีวิชัยและสมัยเมืองครหิ

บริเวณภายในปุระที่เป็นเวียงมีวัดสำคัญแห่งเดียวคือ ‘วัดหลง’ แต่ที่วัดเวียงหาใช่วัดไม่ น่าจะเป็นบริเวณพระราชวังและที่ทำการบริหารปกครองบ้านเมือง ที่มีการถวายวังเป็นวัด ทำให้เกิดมีวิหารที่นำเอาพระพุทธรูป เทวรูป และโบราณวัตถุทางศาสนาเก่าๆ หลายยุคสมัยที่พบที่เมืองโบราณและบริเวณโดยรอบมาประดิษฐานไว้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

ในการศึกษารูปแบบและสมัยเวลาของบรรดาโบราณวัตถุที่พบทั้งที่วัดเวียงและข้าวของที่ท่านพุทธทาสรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา แล้ว ข้าพเจ้าสามารถกำหนดสมัยเวลาทางวัฒนธรรมของเมืองไชยาโบราณแห่งนี้ได้ดังนี้

สมัยแรก ที่เรียกว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีโบราณวัตถุ เช่น เครื่องมือหินและเศษเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นหม้อไห ใช้ในการหุงต้มและอุทิศแก่ศพนั้น เป็นสิ่งที่กำหนดอายุชัดเจนไม่ได้ เพียงแต่ประมาณได้ว่าตั้งแต่ ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล หรือพุทธศตวรรษที่ ๑-๒ ขึ้นไป

สมัยที่ ๒ ราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑ เห็นได้จากเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขก ถือสังข์เหนือสะโพกในศาสนาฮินดู ที่คงได้รับมาจากบ้านเมืองโบราณในเขตนครศรีธรรมราช อาจมาจากอำเภอสิชลหรือท่าศาลา อันเป็นบ้านเมืองที่นับถือศาสนาฮินดู สมัยเวลาดังกล่าวนี้นับเนื่องเป็นสมัยฟูนัน

สมัยที่ ๓ คือสมัยทวารวดี-ศรีวิชัย แต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ด้วยเหตุนี้ในพื้นที่เมืองไชยาและแหล่งโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน พบโบราณสถานวัตถุที่เป็นพระพุทธรูปและพระพิมพ์แบบทวารวดีผสมผสานกันอยู่ ทั้งพุทธศาสนาเถรวาทและมหายานปะปนกัน และมีพัฒนาการร่วมกันมาจนสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อันเป็นเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการหันมานับถือพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากกรุงโปโลนนารุวะของลังกา