บริเวณโดยรอบเขากำแพง อำเภออู่ทอง มีคำบอกเล่าว่าบนเขาพบฐานอาคารทำจากแนวหิน
และสร้างอาคารปัจจุบันคลุมทับหมดแล้ว พระสงฆ์บางรูปกล่าวอีกว่ามีการเก็บพระถ้ำเสือไว้บ้าง
แต่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ
แนวคิดเพื่อการสืบพระศาสนาที่ปุษยคีรีสู่การประดิษฐานพระพิมพ์ตามเทือกเขา : จุดกำเนิดพระถ้ำเสือ
จากยอดเขาทำเทียม จนถึงบริเวณ ‘ยอดเขาพระ’ หรือเขาพระศรีสรรเพชญาราม ที่บนยอดเขามีฐานอาคารแบบทวารวดี และมีการสร้างพระเจดีย์ขึ้นสวมทับ สันนิษฐานว่าเป็นสมัยอยุธยา ถ้ำด้านล่างเชิงเขาพระนั้นมีผู้พบพระถ้ำเสือประดิษฐานอยู่ในถ้ำด้วย
จากบทความของคุณมนัส โอภากุล นักวิชาการคนสำคัญชาวสุพรรณบุรีผู้ล่วงลับ ได้บันทึกไว้อย่างรวบรัดแต่มีความหมายมากว่า มีการพบพระถ้ำเสือที่ใดบ้าง (มนัส โอภากุล. พระถ้ำเสือเมืองสุพรรณ, ศิลปวัฒนธรรม, มีนาคม ๒๕๓๖) นักนิยมพระเครื่องรุ่นแรกของอำเภออู่ทองเล่าว่ามีอยู่ดังนี้ เขาวงพาทย์ (บนยอดเขาพบอิฐโบราณสถานแบบทวารวดี ), เขาคอก (ถ้ำเสือ), วัดเขาพระ (วัดพระศรีสรรเพชญาราม), เขากำแพง, เขากุฎิ, เขาดีสลัก, วัดเขาพระ (บ้านจร้าเก่า-จร้าใหม่), เขาวง, เขากระจิว, เขานกจอด, วัดหลวง
เมื่อตามไปสำรวจยังสถานที่ดังกล่าวสอบถามพระสงฆ์และผู้คนที่อยู่อาศัยโดยรอบได้ข้อมูลปัจจุบันและเอกสารของผู้สะสม พระถ้ำเสือประเมินได้ดังนี้
กลุ่มที่ ๑ มีร่องรอยจากคำบอกเล่า และพระถ้ำเสือจากกรุดังกล่าวไม่พบเห็นแพร่หลาย
‘เขาวงพาทย์' ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับลำน้ำจระเข้สามพัน ห่างจากวัดถ้ำเสือที่เขาคอกราว ๗ กิโลเมตรมาทางทิศใต้ มีรายงานว่าพบอิฐจากโบราณสถานสมัยทวารวดีขนาดใหญ่บนยอดเขา รูปแบบไม่แตกต่างจากอิฐที่ยอดเขารางกะปิดหรือโบราณสถานพุหางนาค แต่ไม่มีข้อมูลของพระถ้ำเสือจากเขาวงพาทย์ นอกจากการบอกเล่าซ้ำว่ามีอยู่ที่ใดบ้าง
‘เขาคอก’ และ ‘เขาพระ’ วัดศรีสรรเพชญาราม มีรายงานว่าพบพระถ้ำเสือที่ถ้ำเสือใกล้กับน้ำตกพุม่วง และกล่าวว่าพบพระถ้ำเสือในถ้ำด้านล่างเชิงเขาพระ
‘เขากำแพง’ มีรายงานว่าเคยพบพระถ้ำเสือและมีเก็บไว้บ้าง รวมทั้งกล่าวว่าเคยพบเห็นฐานอาคารโบราณสถานทำด้วยหินบนเขาค่อนข้างสูงแต่ปัจจุบันถูกสร้างอาคารทับไปแล้ว ด้านใต้ของเขากำแพงมีการระเบิดหินจากภูเขาขนาดใหญ่